พระตำหนักทะเลชุบศร ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
สิ่งสำคัญ ๑. พระตำหนักทะเลชุบศร ๒.เขื่อนช่องระบายน้ำ ๓. คันทะเลชุบศร ๔. คลองปากจั่นและประตูระบายน้ำ
ประวัติความสำคัญ :
          พระตำหนักทะเลชุบศรหรือพระที่นั่งเย็น ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเก่าลพบุรีประมาณ ๓ กิโลเมตร สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้น ณ กลางเกาะทะเลชุบศร เพื่อใช้เป็นที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ และในคราวเสด็จประพาสป่าทะเลชุบศรนั้นมีสภาพเป็นที่ลุ่ม มีพื้นที่ติดต่อกับทุ่งพรหมาสตร์ไปทางทิศตะวันออก ในฤดูฝนน้ำจะไหลจากเทือกเขามารวมอยู่ในแอ่งนี้ จนแลดูคล้ายทะเลสาบ
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชาธิบายว่า เมื่อ พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระรามนั้นเมื่อจะแผลงศรผลาญศัตรู จะต้องเอาคม พระแสงชุบในห้วงน้ำเสียก่อน บรรดาห้วงน้ำที่พระรามได้ชุบแสง ต่อมาถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยทางสรุปว่าพวกพราหมณ์เป็นผู้ขนานนามทะเลสาบแห่งนี้

          รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทะเลชุบศรนี้ตื้นเขินเป็นส่วนใหญ่ จึงได้โปรดฯ ให้ช่างชาวฝรั่งเศสทำการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ ช่างได้ถมดินสร้างทำนบก่ออิฐ เพื่อขังน้ำเป็นทะเลสาบและยังทำปากจั่น หรือประตูกั้นน้ำ-ระบายน้ำไว้แล้วไขน้ำให้ล้นไหลลงมายังสระแก้ว และฝังท่อดินทำการประปาจากสระแก้วไปยังตัวเมืองลพบุรี
          ปัจจุบันทะเลชุบศรตื้นเขินหมดแล้ว ประชาชนเข้าจับจองเป็นที่อยู่อาศัยแต่ก็ยังสามารถเห็นร่องรอยโบราณสถาน ตลอดจนประตูระบายน้ำเรียกกันว่าปากจั่นได้ตามบันทึกของชาวฝรั่งเศส กล่าวว่าเป็นที่เหมาะสมสามารถมองฟ้าได้ทุกด้าน และมีพื้นที่กว้างมากพอสำหรับจะติดตั้งเครื่องมือดาราศาสตร์ ทั้งยังมีภาพการสำรวจจันทรุปราคา ที่พระตำหนักแห่งนี้ ซึ่งชาวฝรั่งเศสวาดไว้เป็นรูปสมเด็จพระนารายณ์ทรงสวมลอมพอกและทรงกล้องส่องยาววางบนขาตั้งทอดพระเนตรจันทร์จากสีหบัญชรพระที่นั่ง ตรงเฉลียงสองข้างนั้น ด้านหนึ่งมีขุนนางหมอบก้มประนมมือ อีกด้านหนึ่งมีนักดาราศาสตร์ชาวยุโรปกำลังส่องกล้องดูอยู่เช่นกัน จึงกล่าวได้ว่า การศึกษาวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่ เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ณ พระตำหนักทะเลชุบศรนี้


เส้นทางสู่แหล่ง : จากศาลากลางจังหวัดลพบุรี มุ่งหน้าไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อถึงวงเวียนพระนารายณ์ใช้ทางออกที่ ๑ ไปยังถนนหมายเลข ๑ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ซอยชุบศร ๑ ประมาณ ๖๕๐ เมตร และเลี้ยวขวา พระที่นั่งจะอยู่ทางซ้าย
ลักษณะรูปแบบศิลปกรรม : สมัยอยุธยาตอนปลาย
ลักษณะการใช้งานในปัจจุบัน : เปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนเข้าชม
การขึ้นทะเบียน : ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๒๔ วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๗๙

ที่มาของข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี

(จำนวนผู้เข้าชม 6340 ครั้ง)

Messenger