ลูกปัดแก้วสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง
          ลูกปัดแก้วเป็นเครื่องประดับชนิดหนึ่งที่ทำมาจากแก้ว ซึ่งแก้วเป็นวัสดุที่สันนิษฐานว่ามีต้นกำเนิดเมื่อประมาณ ๔,๕๐๐ - ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยในสมัยโบราณผลิตจากการหลอมส่วนประกอบหลัก ๓ อย่าง รวมกัน ได้แก่
          ๑. ซิลิกา (Silica) เป็นส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ทราย
          ๒. ด่าง (Alkali) เช่น โซเดียมไบคาร์บอนเนตหรือเกลือ Natron ช่วยให้ใช้อุณหภูมิในการหลอมละลายลดลง
          ๓. แคลเซียม (Calcium) เช่น ปูนขาวหรือหินปูน ช่วยให้แก้วคงรูปร่าง
          นอกจากนี้ยังมีการใส่วัตถุดิบที่ให้เกิดสีอื่นๆ เช่น เหล็กให้สีเขียว คาร์บอนหรือนิเกิลให้สีน้ำตาล โครเมียมให้สีเขียว โคบอลท์ให้สีฟ้า เป็นต้น



          จากหลักฐานทางโบราณคดีในประเทศไทยพบลูกปัดแก้วตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ตอนปลาย โดยสันนิษฐานว่าในช่วงแรกเป็นของนำเข้ามาจากประเทศอินเดีย โดยผ่านการค้าทางทะเลกับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายริมชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตกของไทย และค้าขายผ่านเส้นทางการค้าทางบกไปยังชุมชนร่วมสมัยต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลจากชายฝั่งทะเล และต่อมาบางชุมชนริมชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตกของไทยได้ผลิตลูกปัดแก้วขึ้นใช้เอง โดยอาจนำเข้าก้อนแก้ว หรือวัตถุดิบมาผลิต เช่น แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จ.ชุมพร (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๑๐) และแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด จ.กระบี่ (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๖-๘) ที่พบหลักฐานเป็นเศษแก้วหลอม และลูกปัดแก้วที่ยังผลิตไม่สมบูรณ์



          ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ได้ขุดค้นพบลูกปัดแก้วอยู่ร่วมกับหลุมฝังศพ โดยพบเป็นลูกปัดแก้วสีต่างๆ ได้แก่ สีเหลือง สีเขียว สีฟ้า สีน้ำเงิน สีแดง และมีรูปทรงต่างๆ ได้แก่ ทรงกระบอกยาว ทรงกลม ทรงกลมแบน ทรงถังเบียร์ ทรงกระบอกยาวแบบหลอดคล้ายตะกรุด และทรงกรวยหัวตัดฐานประกบคู่ (Truncated bicone) โดยเฉพาะทรงกระบอกยาวแบบหลอดคล้ายตะกรุด และรูปทรงทรงกรวยหัวตัดฐานประกบคู่ (Truncated bicone) นี้ พบเฉพาะในแหล่งโบราณคดีกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงเท่านั้น และยังไม่พบแหล่งผลิตที่ชัดเจน และจากการที่พบลูกปัดแก้วอยู่ร่วมกับหลุมฝังศพเพียงไม่กี่หลุมเท่านั้น ซึ่งแสดงว่าเป็นเครื่องประดับที่มูลค่าสูงหรือหายากในชุมชนบ้านเชียงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และผู้สวมใส่จะมีสถานภาพทางสังคมสูงด้วย และจากการที่เป็นของนำเข้ามาจากที่อื่นก็แสดงถึงติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกันด้วย




............................................

อ้างอิง:
ผุสดี รอดเจริญ, “การศึกษาแก้วสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่พบในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย”, สารนิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๘ วิลภา กาศวิเศษ, “การศึกษาเครื่องประดับที่ได้จากการขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีใน ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๖”, สารนิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, เครื่องใช้และเครื่องประดับที่ทำด้วยแก้ว ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๙. .................................................

เรียบเรียงโดย: นายวีระเกียรติ สหวรเมธี ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง

(จำนวนผู้เข้าชม 4133 ครั้ง)

Messenger