คชลักษมี “พระศรี” แห่งความเจริญรุ่งเรืองของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย
          พระศรี-ลักษมี เป็นเทพีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะพระชายาของพระวิษณุ และเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภ ความเจริญงอกงาม ความอุดมสมบูรณ์ และความมั่งคั่งร่ำรวย โดยมีพื้นฐานความเชื่อมาจากคติการบูชาพระแม่ (Mother Goddess) ในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ

          ลักษณะของพระศรี-ลักษมี มักปรากฏในรูปของสตรีสวมศิราภรณ์แบบกษัตริย์ พระหัตถ์ทั้งสองถือดอกบัว นอกจากนี้ยังพบรูปพระศรี-ลักษมี ในอีก 8 ปาง หรือที่เรียกว่า อัษฏลักษมี ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละคัมภีร์ โดยหนึ่งปางของพระศรี-ลักษมีที่ปรากฏทุกคัมภีร์และมีความสำคัญยิ่ง คือ คชลักษมี
          คชลักษมี หรือ อภิเษกลักษมี เป็นตอนที่พระลักษมีปรากฏขึ้นมาตอนกวนเกษียรสมุทร และได้อัญเชิญพระลักษมีชำระล้างร่างกาย ก่อนที่จะถวายพระองค์แก่พระวิษณุ มักปรากฏการแสดงภาพคชลักษมีด้วยภาพพระลักษมีประทับนั่งตรงกลาง ด้านข้างขนาบด้วยช้างสองเชือกกำลังรดน้ำบนพระเศียร
          ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย พบภาพสลักคชลักษมีบนทับหลัง จากบรรณาลัยของอโรคยศาล ปราสาทโคกงิ้ว อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 ซึ่งอาจมีการเคลื่อนย้ายมาจากปราสาทหลังอื่นในบริเวณใกล้เคียง และรูปคชลักษมีที่สำคัญอีกภาพ ซึ่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายได้นำมาจัดแสดงบริเวณอาคารศิลาจำหลัก ได้แก่ ชิ้นส่วนหน้าบันรูปคชลักษมี พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดีที่ปราสาทพะโค อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา แม้รูปพระลักษมีจะแตกหักหาย แต่ก็สามารถสันนิษฐานได้ว่า หน้าบันนี้คงสลักเป็นภาพคชลักษมี เนื่องจากมีการสลักภาพช้างสองเชือกยืนสองขาเพื่อรดน้ำแก่พระลักษมีตรงกลาง ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบโดยทั่วไปของคชลักษมี



เรียบเรียงข้อมูล : นางสาวนัยนา มั่นปาน ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

(จำนวนผู้เข้าชม 16271 ครั้ง)