สงกรานต์ แผ่นดินพระจอมเกล้าฯ ตอนที่ ๒
          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ออกหนังสือ “ราชกิจจานุเบกษา” ในพุทธศักราช ๒๔๐๑ ปรากฏว่าออกอยู่ได้เพียง ๑ ปีเท่านั้น ก็หยุดงะชักไป ด้วยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ประกาศต่างๆ ด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงมีพระราชกิจอื่นๆ มากขึ้นจึงไม่ได้ทรงทำหนังสือดังกล่าวอีก หากแต่การพิมพ์ประกาศ ซึ่งเป็นพระบรมราชโองการ พระราชกระแส พระบรมราชาธิบายในวาระต่างๆ ยังเป็นที่นิยม จึงยังคงมีการออกประกาศเหล่านี้ เป็นใบปลิวแจกไปตามกรมกองต่างๆ ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัตินี้ มีต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนจะมีการฟื้นฟูหนังสือราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง ในพุทธศักราช ๒๔๑๗
          นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๐๑ เป็นต้นมาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ออกประกาศสงกรานต์ สำหรับข้าราชการ และราษฎรได้ทราบวันที่ชัดเจนในการเข้าสู่ศักราชใหม่ สันนิษฐานว่า พระองค์ได้ทรงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในปีต่อมาหลังจากนั้น เมื่อใกล้จะเข้าสู่ศักราชใหม่ จะทรงออกประกาศมหาสงกรานต์ให้ทราบ ดังเช่นประกาศวันมหาสงกรานต์ ปีมะแม เอกศก พุทธศักราช ๒๔๐๒ ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

          “...มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย แลราษฎรในกรุงนอกกรุงให้รู้ทั่วกันว่าในปีมะแมนักษัตรเอกศก ณวันอังคาร เดือนห้าขึ้นสิบค่ำ เปนวันมหาสงกรานต์ วันพุธเดือนห้าขึ้นสิบเอ็จค่ำเปนวันเนา วันพฤหัสบดีเดือนห้าขึ้น ๑๒ ค่ำเปนวันเถลิงศก เปนวันนักษัตรฤกษพิเศษเพียงสามวัน ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย แลราษฎรในกรุงนอกกรุงทำบุญให้ทาน ในเขตรมหาสงกรานต์นี้เหมือนอย่างเคยทำมาแต่ก่อน เมื่อวันสุดท้ายสิ้นสงกรานต์สามวันแล้ว มักไต่ถามกันว่าปีนี้สงกรานต์ขี่อะไรถืออะไรนั่งนอนอย่างไรกินอะไร เรื่องอย่างนี้จะบอกให้แจ้งก็ได้ แต่หาเปนประโยชน์ไม่ ถ้าจะใคร่รู้ให้มาคอยดูรูปมหาสงกรานต์ ซึ่งเขียนแขวนไว้ที่หน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในวันถือน้ำพระพิพัฒสัตยาแล้วนั้นเถิด ปีมะแมเอกศกนี้ พระพุทธศักราช ๒๔๐๒ นับตั้งแต่วันอังคาร เดือนหก แรมค่ำหนึ่งไป เปนปีที่ ๙ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ มหาศักราช ๑๗๘๑จุลศักราช ๑๒๒๑ ตั้งแต่วันพฤหัส เดือนห้าขึ้นสิบสองค่ำไป ปีนี้ไม่มีอธิกมาสแลอธิกวาร ณวันอังคาร เดือนห้าขึ้นสามค่ำวันหนึ่ง วันเสาร์เดือนสิบ แรมสิบสามค่ำวันหนึ่ง เปนวันที่ถือน้ำพระพิพัฒสัตยา ประกาศมาณวันศุกร เดือนสี่ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีมะเมียนักษัตรสัมฤทธิศก...”

          ถึงปลายปีมะแม เอกศก พุทธศักราช ๒๔๐๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ออกประกาศมหาสงกรานต์สำหรับปีวอก โทศก พุทธศักราช ๒๔๐๓ ซึ่งในประกาศฉบับนี้ แตกต่างไปจากประกาศมหาสงกรานต์ฉบับก่อนๆ ซึ่งคัดเฉพาะใจความสำคัญสำหรับเผยแพร่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา โดยทรงมี พระบรมราชาธิบายเพิ่มเติมว่าด้วยวันสำคัญต่างๆ ในรอบปี เช่น วันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา วันมหาปวารณา และปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปีนั้น คือจันทรุปราคา ความดังนี้

          “...วันพุธเดือนเก้าขึ้นสิบสี่ค่ำปีวอกโ๑๐ทศก จะมีจันทรอุปราคา จะจับทิศอาคเณ กินเปนอัฑฒคราธกึ่งดวงหย่อนอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วเลียบมาข้างทิศทักษิณ แล้วจะคลายออกจนหลุดทิศทักษิณค่อนข้างหรดีหน่อยหนึ่ง ที่กรุงเทพมหานครกรุงเก่าแลลพบุรีขึ้นไปข้างเหนือ ปักษ์ใต้จนเมืองสงขลาเมืองตานีเปนบรรทัดกลาง เวลาแรกจับ ๔ ทุ่มกับ ๔๔ นาที คือ ๗ บาทนาฬิกา แต่ว่าจะเหนพระจันทร์หมองมัวข้างทิศอาคเณก่อนขาดขอบ ๓ บาทนาฬิกา เวลากลางคราธคือจับเกือบถึงกึ่งดวงเปนมากที่สุด เปนเวลา ๒ ยามถ้วนเที่ยงคืนทีเดียว เวลาหลุดขอบพระจันทรเห็นเต็มเมื่อ ๗ ทุ่มกับ ๑๖ นาทีคือ ๓ นาฬิกา แต่พระจันทรยังจะหมองอยู่ข้างทิศหรดีไปอีก ๓ บาทนาฬิกา กำหนดทั้งสามสถานนี้ ถ้าจะทายในเมืองฝั่งทเลตวันออกตั้งแต่เมืองตราดเมืองจันทบุรีขึ้นมาจนเมืองชลบุรีเมืองพนัสนิคม เมืองฉะเชิงเทรา เมืองปราจิณบุรี ในแนวตวันออกกรุงเทพ ต้องทายให้แก่กว่าที่กรุงเทพดังว่าแล้วนั้น ๒ นาฬิกาบ้าง ๓ นาฬิกาบ้าง ตามเมืองที่ห่างไปตวันออก คือให้เพิ่มส่วนที่ ๓ ฤๅกึ่งแห่งบาทเข้าทายเถิด จึงถูกกับเวลานาฬิกาตั้งในเมืองเหล่านั้น แต่ฝ่ายเมืองฝั่งทเลตะวันตกตั้งแต่เมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมาจนเมืองเพ็ชร์บุรี เมืองกาญจนบุรี ถ้าจะทายก็ให้ลดลงกว่ากำหนดที่ว่าแล้วนั้น ๒ นาทีบ้าง ๓ นาทีบ้าง คือลดเสียเท่าส่วนที่ ๓ แห่งบาทฤๅกึ่งบาท ตามเมืองที่ไกลแลใกล้กรุงเทพไปข้างตวันตก เพราะเวลาเที่ยงคืนเที่ยงวัน ในฝั่งตวันตก เปนหลังเที่ยงคืนเที่ยงวันในฝั่งทเลตวันออก ๔ นาทีบ้าง ๕ นาทีบ้าง ๖ นาทีบ้าง...”

          ประกาศสงกรานต์บางฉบับ แสดงให้เห็นสภาพความเป็นไปของสังคม และวัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับรู้มาเป็นเวลายาวนาน อย่างเช่นในประกาศมหาสงกรานต์ ปีระกา ตรีศก พุทธศักราช ๒๔๐๓ ความตอนหนึ่งว่า

          “...ถึงวันเสาร์ เดือน๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ก็เปนวันมหาปวารณาตามอย่างที่เคยถือมาโดยการหยาบๆ ครั้นเมื่อคิดตามนักษัตรฤกษ์แล้ว เดือน ๑๑ ข้างขึ้นก็เปนปักษ์ขาดเหมือนกัน วันศุกร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำนั้น โดยดิถีประสงค์เปนวันเพ็ญ เพราะฉนั้น ถ้าพระสงฆ์จะถือโดยเลอียดให้ถูกต้อง จะต้องควรทำปวารณาเสียแต่ในวันนั้น อันนี้เปนอย่างดีสิ้นสงสัย ถึงในบาลีพระวินัยก็มีอยู่จะทำปวารณาในขึ้น ๑๔ ค่ำ ไม่เชื่อก็ไปค้นบาลีดูเอา การปีเดือนซึ่งนับในเมืองนั้นๆ บรรดาซึ่งเปนที่มีพระพุทธสาสนา ก็เปนแต่โครงๆ ไปดังอย่างธรรมเนียมไว้เพื่อจะให้คนเรียกง่ายจำง่าย แต่กาลเมื่อมาถึงพระพุทธบัญญัติแล้วก็ต้องกำหนดเอาตามนักษัตรฤกษ์พระจันทร์ที่เห็นปรากฎแก่ตาในอากาศนั้นเปนประมาณ ขอพระสงฆ์ผู้จะใคร่ปฏิบัติวินัยให้ถูกต้อง จงเรียนรู้นักษัตรฤกษ์แล้วพิเคราะห์ดูตามกำหนดวินัยธรรมนั้นๆ ให้ชอบเทอญ การเข้าปุริมพรรษาเข้าปัจฉิมพรรษาแลปวารณา ไม่ใช่การของพระเจ้าแผ่นดินๆ เปนแต่ผู้ทนุบำรุงชนทั้งปวงในพระราชอาณาจักร ให้ถือสาสนาตามใจตัวให้สิ้นความร้อนรำคาญใจเพราะถือสาสนา ก็แลซึ่งประกาศมาด้วยวันเหล่านี้ เพราะเห็นว่าพระสงฆ์ไม่ได้ศึกษาในนักษัตรฤกษ์โดยมาก เปนแต่ทำตามๆ กัน ก็พระสงฆ์บางพวกขวนขวายจะใคร่รู้การเลอียดนั้นก็มี จึงกล่าวมาตามใจพวกนั้นบ้าง เปนการช่วยเตือนสติ เมื่อเชื่อก็จงทำตาม เมื่อไม่เชื่อก็แล้วไป ไม่มีผิดชอบอะไรแก่การแผ่นดิน พระสงฆ์ในพระราชอาณาจักรทั้งปวงจงถือพระวินัยตามใจ อย่าได้ว่ากล่าวข่มขู่กันด้วยเหตุนี้เลย..”


ภาพ : พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการเรียบเรียงประกาศต่างๆ ในสมัยนั้น

ที่มา : พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จ. พระราชพิธีสิบสองเดือน.กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๕๖. พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จ. รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๔๘.

ผู้เรียบเรียง : นายวสันต์ ญาติพัฒ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี

(จำนวนผู้เข้าชม 4429 ครั้ง)