เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
เล่าเรื่องประติมานวิทยา: ไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภา (Bhaiṣajyaguruvaiḍūryaprabhā)
พระพุทธเจ้าสูงสุดทางการแพทย์และโอสถ ในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน พระนามหมายถึง บรมครูแห่งโอสถ (รักษาโรค) ผู้มีรัศมีดุจไพฑูรย์ (มณีสีน้ำเงิน-lapis lazuli) พระนามอื่น ๆ คือ เภษัชราชา (Bheṣajarāja) ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต (Bhaiṣajyaguruvaiḍūryaprabhātathāgata) ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาราชา (Bhaiṣajyaguruvaiḍūryaprabhārāja) ผู้ปลดเปลื้องมนุษย์จากโรคภัยไข้เจ็บและความทุกข์ทรมานต่าง ๆ หากได้สดับนามของพระองค์ และน้อมจิตบูชาอย่างถูกต้อง หรือเพียงสัมผัสรูปของพระองค์ ก็อาจหายจากโรคทางกายและทางใจ กล่าวว่าพระองค์ทรงเป็นเภสัชกรผู้เยียวยาจิตวิญญาณของมนุษย์ให้หลุดพ้นอวิชชา มิจฉาทิฐิ ไปสู่โพธิมรรคและนิพพาน ด้วยพระมหาปณิธานที่ทรงตั้งไว้ระหว่างบำเพ็ญบารมี 12 ประการ
ภาพที่ 1.
พระไภษัชยคุรุ ศิลปะพม่า แบบเชียงรุ้ง พุทธศตวรรษที่ 23 - 24 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพที่ 2.
บันแถลง (องค์ประกอบเครื่องบนหลังคาอาคารประเภทปราสาทหรือปรางค์) ศิลา ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 18 - 19 สลักภาพพระไภษัชยคุรุ ปางสมาธิ ถือหม้อน้ำหรือตลับยา ในพระหัตถ์ สื่อความหมายว่าสถานแห่งนั้นอยู่ภายใต้ความความคุ้มครองของพระองค์ เก็บรักษาที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย
ประวัติของพระองค์กล่าวไว้ต่าง ๆ กัน บ้างก็ว่าพระองค์เป็นพระมานุษิพุทธเจ้า (Manuṣi Buddha) บ้างก็ว่าทรงเป็นพระโพธิสัตว์ (Bodhisattva) คัมภีร์บางแห่งกล่าวว่าพระองค์คือ พระโพธิสัตว์ไวโรจนะ (Vairocana) ดินแดน (พุทธเกษตร) ของพระองค์อยู่เบื้องทิศตะวันออก มีชื่อว่า “ศุทธิไวฑูรย์” หรือ “ไวฑูรนิรภาส” ตรงกันข้ามกับแดนสุขาวดี พุทธเกษตรทางทิศตะวันตกของพุทธเจ้าพระอมิตาภะ (Amitābha) ทรงมีพระโพธิสัตว์คู่บารมี 2 พระองค์ คือ พระสุริยประภาโพธิสัตว์ (Sūryaprabha) และ จันทรประภาโพธิสัตว์ (Candraprabha) พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าที่ได้รับการนับถือมากที่สุด 1 ใน 3 องค์ของฝ่ายมหายาน ซึ่งประกอบด้วยพระศากยมุนี (Śākayamunī) พระไภษัชยคุรุ และพระอมิตาภะ กระทั่งนับถือเป็นพระพุทธเจ้าแห่งทิศตะวันออกแทนพระพุทธเจ้าอักโษภยะ (Akṣobhaya)
ภาพที่ 3.
พระไภษัชยคุรุ ทรงเครื่อง ปางสมาธิ ถือหม้อน้ำหรือตลับยาในพระหัตถ์ ศิลปะเขมรในประเทศไทย พุทธศตวรรษที่ 18 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
รูปเคารพโดยทั่วไปของพระไภษัชยคุรุ มีลักษณะดังพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือครองจีวรแบบนักบวช พร้อมด้วยมหาปุริสลักษณะ วรรณะสีน้ำเงินหรือสีทอง ประทับขัดสมาธิเพชรบนบัลลังก์สิงห์ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ธยานมุทรา dhayanamudrā) ถือบาตร (patra) บรรจุโอสถ พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชงฆ์ (วรทมุทรา Varadamudrā) ถือยาสมุนไพร หรือขวดบรรจุยา โอสถที่บรรจุในบาตรหรือถือในพระหัตถ์ บ้างว่าเป็นกิ่ง อรุรา (arura ไม่มีนามทางวิทยาศาสตร์อันเป็นที่รู้จัก) บ้างว่าเป็นกิ่งสมอ (myrobalan) บ้างก็ว่าเป็นมะขามป้อม (อามลกะ- āmalaka, phyllanthus emblica) บางครั้งรูปเคารพของพระองค์ขนาบด้วยพระโพธิสัตว์สุริยประภาและพระโพธิสัตว์จันทรประภา และแวดล้อมด้วยมหายักษ์เสนาบดี 12 ตน ผู้พิทักษ์มหาปณิธานของพระองค์ คือ กุมภิระ (Kumbhira) วัชระ (Vajra) มิหิระ (Mihira) อัณฑีระ (Aṇḍīra) อนิล (Anila) ศัณฑิละ (Śaṇḍila) อินทระ (Indra) ปัชระ (Pajra) มโหรคะ (Mahoraga) กินนระ (Kinnara) จตุระ (Catura) และวิกราละ (Vikarāla)
ภาพที่ 4.
พระไภษัชยคุรุ ในลักษณะพระพุทธรูปทรงเครื่องนาคปรก พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ ถือหม้อน้ำหรือตลับยาในพระหัตถ์ ศิลปะเขมรในประเทศไทย พุทธศตวรรษที่ 18 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข้อมูล : นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
หนังสืออ้างอิง
1. ผาสุข อินทราวุธ, พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2543.
2. วิศวภัทร มณีปัทมเกตุ, แปล. พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาสัปตพุทธปูรวปณิธานวิเศษสูตร. กรุงเทพฯ: บริษัทเคล็ดไทย, 2544.
3. Gösta Lieber. Iconographic Dictionary of the Indian Religions Hinduism-Buddhism-Jainism. Leiden: E.J. Brill, 1976.
4. Trilok Chandra Majupuria and Rohit Kumar Majuria. Gods, Goddesses & Religious Symbols of Hinduism, Buddhism & Tantrism [Including Tibetan Deities]. Lashkar (Gwalior) : M. Devi, 2014.
(จำนวนผู้เข้าชม 15217 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน