พิพิธภัณฑ์กับการมีส่วนร่วมในการรับมือวิกฤตโรคระบาดในอดีต : กรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา
          ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ประกอบกับวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓ องค์การอนามัยโลกได้มีการประกาศให้การระบาดของโรคดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health emergency of international concern (PHEIC) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ โรคระบาดที่เกิดขึ้นนี้นอกจากจะสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล
          ในอดีตที่ผ่านมาวิกฤตโรคระบาดลักษณะนี้มิใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในฐานะที่พิพิธภัณฑ์เป็นสถาบันที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมหรือด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเล่าเรียนและก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างเช่นนี้ พิพิธภัณฑ์จะสามารถเข้ามามีบทบาทหรือส่วนร่วมเพื่อช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดไปได้อย่างไร เราจะมาศึกษากรณีตัวอย่างจากพิพิธภัณฑ์ในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงที่เกิดวิกฤตโรคระบาดกัน
วัณโรคระบาดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐
          วัณโรค (Tuberculosis) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ โดยการไอหรือจาม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ติดเชื้อจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ ๕๐ ในประเทศสหรัฐอเมริกาการระบาดของวัณโรคเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงต้นปี ค.ศ.๑๙๐๐ (ประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๓ เป็นต้นมาซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕) จากการวินิจฉัยโรคพบว่าอัตราการเสียชีวิตของโรคนี้สูงถึง ๑ ต่อ ๗ ซึ่งคนยากจนที่อาศัยอยู่ในเมือง โดยเฉพาะผู้ที่อพยพมาใหม่จากต่างประเทศและอาศัยอยู่ในสภาพแออัดจะมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่ เมื่อเป็นโรคผู้คนกลุ่มนี้จะรักษาตนเองอยู่กับบ้าน เนื่องจากไม่ไว้วางใจโรงพยาบาลและการรักษาของแพทย์
          เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการระบาดของวัณโรค เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงได้ขอความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์ โดยมีแนวคิดคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัณโรคโดยใช้สื่อหลายภาษา ควบคู่ไปกับการนำเสนอข้อมูลให้มีขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับสาธารณชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เดิมพิพิธภัณฑ์ถูกมองว่าเป็นคลังเก็บโบราณวัตถุหรือสโมสรสังสรรค์สำหรับชนชั้นสูง แต่จากวิกฤตวัณโรคครั้งนี้พิพิธภัณฑ์ได้มีบทบาทในการให้ความรู้และสามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้โดยตรง

ภาพ : เด็ก ๆ จากโรงเรียนของรัฐเข้าแถวใกล้กับทางเข้าทางทิศเหนือและทิศใต้ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน (American Museum of Natural History) เพื่อเยี่ยมชมนิทรรศการนานาชาติเรื่องวัณโรคในปี ค.ศ.๑๙๐๙ (พ.ศ.๒๔๕๒) จำนวนเฉลี่ย ๖,๐๐๐ คนต่อวันในระยะเวลาสองสัปดาห์ ที่มาภาพMarjorie Schwarzer. (2020). Lessons from History: Museums and Pandemics. Retrieved March 22, 2020, from https://www.aam-us.org/2020/03/10/lessons-from-history-museums-and-pandemics/

          ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๐๕ - ๑๙๐๙ (พ.ศ. ๒๔๔๘ - ๒๔๕๒) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกันและสถาบันสมิธโซเนียนได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับวัณโรคจำนวนสองเรื่อง คือ สาเหตุและการแพร่กระจายของวัณโรค และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย และจัดทำแผ่นพับหลายภาษา เช่น ภาษาจีน ภาษายิดดิช และภาษาอิตาลี ที่มีภาพประกอบเกี่ยวกับการป้องกันและดูแลตนเอง พร้อมป้ายสัญลักษณ์ขนาดใหญ่ ว่า "ห้ามถ่มน้ำลาย" (Don’t Spit) นิทรรศการดึงดูดผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก บางท่านกล่าวว่ามีผู้เข้าชมมากกว่าหนึ่งล้านคนจนทางพิพิธภัณฑ์ต้องขยายเวลาจัดแสดงออกไป นิทรรศการเรื่อง “วัณโรค” ถือเป็นผลงานที่เกี่ยวข้องกับสังคมเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ความพยายามในการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการแก่สาธารณะของพิพิธภัณฑ์ในช่วงการแพร่ระบาดของวัณโรค เป็นตัวอย่างของวิธีการที่พิพิธภัณฑ์สร้างบทบาทใหม่ให้กับตนเองในฐานะของสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ


ภาพ : โปสการ์ดเนื่องในนิทรรศการนานาชาติเรื่องวัณโรค ปี ค.ศ.๑๙๐๙ เมืองฟิลาเดเฟีย ที่มาภาพ 1909 International Tuberculosis Exhibition Philadelphia Postcard Consumption. Retrieved March 29, 2020, from https://www.worthpoint.com/worthopedia/1909-international-tuberculosis-493487503

ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ระบาดในปี ค.ศ.๑๙๑๘ (พ.ศ.๒๔๖๑)
          ไข้หวัดใหญ่สเปนเป็นหนึ่งในโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่าห้าสิบล้านคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวน สิบหกล้านคน ในประเทศสหรัฐอเมริกาไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนต้องปิดเมืองเมืองแอตแลนตา แนชวิลล์ ซอลท์เลคซิตี้เป็นการชั่วคราว
           การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนเป็นเหตุให้อายุขัยของชาวอเมริกันลดลงถึง ๑๒ ปี เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยและอุปกรณ์ เครื่องมือทางด้านการแพทย์เกิดความขาดแคลน ที่เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนียเจ้าหน้าที่ได้ ทำการปรับเปลี่ยนหอประชุมเทศบาลรวมถึงหอศิลป์ (ซึ่งปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์เมืองโอ๊คแลนด์แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (Oakland Museum of California)) ให้เป็นโรงพยาบาลฉุกเฉินขนาด ๘๐ เตียง
           สำหรับพิพิธภัณฑ์พาร์ค (Park Museum) เมืองพรอวิเดนซ์ รัฐโรดไอแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา Mr.Harold Madison นักปักษีวิทยา ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ได้ร่วมกับ Rhode Island School of Design และห้องสมุดสาธารณะของเมือง ออกแบบหลักสูตรเพื่อการศึกษาให้กับโรงเรียนต่างๆ ที่ถูกสั่งปิดเป็นการชั่วคราว เจ้าหน้าที่ได้จัดหัวข้อการเรียนการสอนและกิจกรรมสำหรับเด็กนับตั้งแต่เรื่องชีวิตสัตว์ไปจนถึงทิวทัศน์ในธรรมชาติ


ภาพ : พยาบาลอาสาสมัครจากสภากาชาดอเมริกันดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในหอประชุมเมืองโอ๊คแลนด์ในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ในปี ค.ศ.๑๙๑๘ (พ.ศ.๒๔๖๑) หอประชุมนี้ยังเป็นที่ตั้งของหอศิลป์โอ๊คแลนด์ ซึ่งต่อมากลายเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองโอ๊คแลนด์แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (Oakland Museum of California) ที่มาภาพMarjorie Schwarzer. (2020). Lessons from History: Museums and Pandemics. Retrieved March 22, 2020, from https://www.aam-us.org/2020/03/10/lessons-from-history-museums-and-pandemics/

การระบาดของโรคเอดส์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐
          ในช่วงปลายปี ค.ศ.๑๙๙๐ (พ.ศ.๒๕๓๓) มีผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี(Human Immunodeficiency Virus หรือ HIV)ประมาณแปดถึงสิบล้านคน อัตราการเสียชีวิตของคนกลุ่มรักร่วมเพศ ผู้มีเชื้อสายแอฟริกัน – อเมริกัน และละตินอยู่ในระดับสูง ข้อมูลเรื่องการติดต่อของโรคยังไม่มีความชัดเจนจึงเป็นเหตุให้ผู้คนต้องประสบกับความหวาดกลัว โดดเดี่ยว และทุกข์ทรมาน
           นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ในปี ค.ศ.๑๙๙๑ (พ.ศ.๒๕๓๔) ศูนย์ควบคุมโรคได้ร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์จำนวนแปดแห่งและสมาคมการแพทย์อเมริกันในการจัดตั้งสมาคมNational AIDS Exhibition Consortium(NAEC) ขึ้น ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนานิทรรศการเพื่อให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ การปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากโรคเอดส์ และเพื่อให้ข้อมูลเข้าถึงประชาชนจำนวนมาก แนวคิดนี้เกิดขึ้นใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่พิพิธภัณฑ์เริ่มหันมาสนใจที่จะนำเสนอเรื่องราวของผู้คน นอกเหนือไปจากด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวิทยาศาสตร์
           สมาคม NAECได้เริ่มจัดแสดงนิทรรศการเรื่องแรก คือ “What about AIDS” ณ The Franklin Institute เนื้อหานิทรรศการแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ประกอบด้วย บทนำ เอดส์คืออะไร การป้องกันตนเอง และการตอบสนองของสังคมต่อโรคเอดส์ นิทรรศการยังบอกเล่าเรื่องราวของผู้ป่วยโรคเอดส์ ครอบครัว เพื่อน ผู้คนที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย และนักวิจัยที่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายนี้ อาจถือได้ว่าสมาคม NAEC เป็นผู้บุกเบิกการจัดนิทรรศการด้านสาธารณสุขซึ่งผสมผสานประเด็นด้านมนุษยธรรม สังคม การเมือง เรื่องส่วนบุคคล หรือแม้แต่ศิลปะให้เข้ากับข้อมูลทางการแพทย์ และจัดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองและเรื่องราวระหว่างกัน




ภาพ : นิทรรศการเรื่อง “What about AIDS”จัดแสดง ณ The New York Hall of Science และ The Franklin Institute เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลวาเนีย เปิดให้เข้าชมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ที่มาภาพ-. “What about AIDS”.HIV/AIDS Prevention Newsletter. 1993. Vol.4, No.3. 3-4. Retrieved March 26, 2020, from https://play.google.com/books/reader?id=ea2HADGS9XQC&hl=th&pg=GBS.RA7-PA6

           จากวิกฤตการณ์และการรับมือกับโรคระบาดในประเทศสหรัฐอเมริกาดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ด้วยความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์กับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานด้านสาธารณสุข พิพิธภัณฑ์จึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยรับมือกับโรคระบาดเหล่านี้ อาทิเช่น การให้ใช้อาคารสถานที่สำหรับรองรับผู้ป่วย การเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบาด ไม่เพียงแต่ให้ข้อมูลทางด้านการแพทย์ แต่ยังครอบคลุมถึงเรื่องความสัมพันธ์ในสังคม วิถีชีวิต มนุษยธรรม ให้แก่สาธารณชนได้รับทราบ นอกจากนั้นยังพัฒนาหลักสูตรการเรียน การสอนให้แก่สถานศึกษาในช่วงที่ถูกสั่งปิดเป็นการชั่วคราวได้อย่างเหมาะสมกับผู้เรียนอีกด้วย
          ปัจจัยที่เอื้อให้พิพิธภัณฑ์สามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ เนื่องจากพิพิธภัณฑ์มีความพร้อมในเรื่องของบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ องค์ความรู้ที่เชื่อถือได้ เทคนิคการนำเสนอข้อมูลให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย สื่อการจัดแสดงที่น่าสนใจ เครือข่ายที่เข้มแข็ง ฐานลูกค้าจำนวนหนึ่งซึ่งจะเป็นผู้รับข้อมูลข่าวสารและบอกต่อ ภาพลักษณ์ในการเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือและมีมาตรฐาน อาคารของหน่วยงานที่มีความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและปลอดภัย
          ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยซึ่งมีภารกิจที่คล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑ์ในประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถศึกษาเป็นกรณีตัวอย่างและประยุกต์ใช้กับภารกิจของพิพิธภัณฑ์ เพื่อยกระดับให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมได้อย่างเหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์
-----------------------------------------------------

บทความโดย น.ส.เบญจพร สารพรม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี

บรรณานุกรม
อนุวัฒน์ กีระสุนทรพงษ์. (๒๕๕๙). ความรู้เกี่ยวกับเอชไอวีและเอดส์. สืบค้นเมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓, จาก https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/november-2016/hiv-aids-infection-treatment National Archives and Records Administration. The deadly virus: The influenza epidemic of 1918. Retrieved March 25, 2020, from https://www.archives.gov/exhibits/influenza-epidemic/index.html Schwarzer, Marjorie. (2020). Lessons from History: Museums and Pandemics. Retrieved March 22, 2020, from https://www.aam-us.org/2020/03/10/lessons-from-history-museums-and-pandemics/ -. What about AIDS.HIV/AIDS Prevention Newsletter. 1993. Vol.4, No.3. 3-4. Retrieved March 26, 2020, from https://play.google.com/books/reader?id=ea2HADGS9XQC&hl=th&pg=GBS.RA7-PA6 -. 1909 International Tuberculosis Exhibition Philadelphia Postcard Consumption. Retrieved March 29, 2020, from https://www.worthpoint.com/worthopedia/1909-international- tuberculosis-493487503

(จำนวนผู้เข้าชม 1912 ครั้ง)