๑๖๐ ปี พระนครคีรี จิรกาล ตอนที่ ๒ เพชรบุรี เมืองแห่งพระราชศรัทธา
เพชรบุรี นับเป็นหัวเมืองสำคัญแห่งหนึ่งในภาคตะวันตก ปรากฏร่องรอยของอารยธรรมมาตั้งแต่สมัยทวารวดี และปรากฏร่องรอยทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรมของโบราณวัตถุสถานในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ชื่อของเมืองเพชรบุรีปรากฏอยู่ในหลักฐานต่าง ๆ เช่น ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช รวมไปถึงเอกสารของต่างประเทศ ก็ปรากฏชื่อซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นชื่อของเมืองเพชรบุรี นอกจากนี้ยังมีตำนานว่าด้วยการสร้างเมืองหลายเรื่อง เช่น ตำนานมหาเภตรา ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช หรือประวัติศาสตร์ของเมืองเพชรบุรี ซึ่งอยู่ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้น
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพชรบุรีเป็นหัวเมืองชั้นในที่สำคัญ ด้วยเป็นเส้นทางเดินทัพของพม่า โดยเฉพาะในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากความสำคัญในทางประวัติศาสตร์แล้ว ในทางพุทธศาสนา อาจกล่าวได้ว่าเพชรบุรีเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยวัดวาอารามสำคัญจำนวนมาก ตลอดจนศาสนสถานสำคัญ เช่น ถ้ำเขาหลวง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินเมืองเพชรบุรีมาตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวชอยู่ในสมณเพศ ปรากฏในเทศนาพระราชประวัติ ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ว่า ได้เสด็จมายังถ้ำเขาหลวง และถ้ำเขาย้อย เป็นอาทิ ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้วในพุทธศักราช ๒๓๙๔ ก็ยังคงเสด็จพระราชดำเนินเมืองเพชรบุรีเรื่อยมา โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะถ้ำเขาหลวง ตลอดจนศาสนสถานอื่น ๆ ในเมืองเพชรบุรี
สิ่งซึ่งเป็นประจักษ์พยานในพระราชศรัทธาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูป อุทิศถวายอดีตบูรพกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระพุทธรูปอุทิศถวายเจ้านายในพระบรมราชวงศ์จักรีวงศ์ทั้งพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ รวมไปถึงเจ้าจอมมารดาบางท่าน ยังปรากฏพระนาม และนามจารึกไว้ที่ฐานพระพุทธรูปเหล่านั้นในปัจจุบัน ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระราชศรัทธา เสด็จฯ มาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแก่พระราชวงศ์อยู่หลายคราว
นอกจากถ้ำเขาหลวงแล้ว อนุสรณ์แห่งพระราชศรัทธาในเมืองเพชรบุรียังปรากฏในสถานที่ต่าง ๆ เช่น วัดมหาสมณาราม ซึ่งเดิมเป็นวัดเล็ก ๆ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม และยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง นับเป็นพระอารามฝ่ายธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในเมืองนี้ ทรงสถาปนาพระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่บนยอดเขามหาสวรรค์ พระราชทานนามว่า พระธาตุจอมเพชร รวมถึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระปรางค์วัดมหาธาตุ ซึ่งได้พังลงมาในปีพุทธศักราช ๒๔๐๖ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดเศวตฉัตร ๙ ชั้น กางกั้นเหนือพระพุทธคันธารราษฎร์ พระพุทธรูปสำคัญแห่งวัดใหญ่สุวรรณาราม ด้วยทรงมีพระราชศรัทธานับถือในพระพุทธรูปองค์นี้มาก แม้ล่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปแล้ว พระมหากษัตริย์รัชกาลต่อ ๆ มา ยังคงดำเนินตามอย่างครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น อย่างคราวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงอุตสาหะ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาถึงสองคราว คือในปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร และในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ ณ พระธาตุจอมเพชร
ภาพ : พระธาตุจอมเพชร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สถาปนาขึ้นบนเขามหาสวรรค์ และพระราชนามไว้ ให้เป็นเสมือนจอมเจดีย์สำคัญ แห่งเมืองเพชรบุรี
ข้อมูล/ภาพ : นายวสันต์ ญาติพัฒ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพชรบุรีเป็นหัวเมืองชั้นในที่สำคัญ ด้วยเป็นเส้นทางเดินทัพของพม่า โดยเฉพาะในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากความสำคัญในทางประวัติศาสตร์แล้ว ในทางพุทธศาสนา อาจกล่าวได้ว่าเพชรบุรีเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยวัดวาอารามสำคัญจำนวนมาก ตลอดจนศาสนสถานสำคัญ เช่น ถ้ำเขาหลวง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินเมืองเพชรบุรีมาตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวชอยู่ในสมณเพศ ปรากฏในเทศนาพระราชประวัติ ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ว่า ได้เสด็จมายังถ้ำเขาหลวง และถ้ำเขาย้อย เป็นอาทิ ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้วในพุทธศักราช ๒๓๙๔ ก็ยังคงเสด็จพระราชดำเนินเมืองเพชรบุรีเรื่อยมา โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะถ้ำเขาหลวง ตลอดจนศาสนสถานอื่น ๆ ในเมืองเพชรบุรี
สิ่งซึ่งเป็นประจักษ์พยานในพระราชศรัทธาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูป อุทิศถวายอดีตบูรพกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระพุทธรูปอุทิศถวายเจ้านายในพระบรมราชวงศ์จักรีวงศ์ทั้งพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ รวมไปถึงเจ้าจอมมารดาบางท่าน ยังปรากฏพระนาม และนามจารึกไว้ที่ฐานพระพุทธรูปเหล่านั้นในปัจจุบัน ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระราชศรัทธา เสด็จฯ มาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแก่พระราชวงศ์อยู่หลายคราว
นอกจากถ้ำเขาหลวงแล้ว อนุสรณ์แห่งพระราชศรัทธาในเมืองเพชรบุรียังปรากฏในสถานที่ต่าง ๆ เช่น วัดมหาสมณาราม ซึ่งเดิมเป็นวัดเล็ก ๆ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม และยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง นับเป็นพระอารามฝ่ายธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในเมืองนี้ ทรงสถาปนาพระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่บนยอดเขามหาสวรรค์ พระราชทานนามว่า พระธาตุจอมเพชร รวมถึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระปรางค์วัดมหาธาตุ ซึ่งได้พังลงมาในปีพุทธศักราช ๒๔๐๖ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดเศวตฉัตร ๙ ชั้น กางกั้นเหนือพระพุทธคันธารราษฎร์ พระพุทธรูปสำคัญแห่งวัดใหญ่สุวรรณาราม ด้วยทรงมีพระราชศรัทธานับถือในพระพุทธรูปองค์นี้มาก แม้ล่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปแล้ว พระมหากษัตริย์รัชกาลต่อ ๆ มา ยังคงดำเนินตามอย่างครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น อย่างคราวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงอุตสาหะ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาถึงสองคราว คือในปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร และในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ ณ พระธาตุจอมเพชร
ภาพ : พระธาตุจอมเพชร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สถาปนาขึ้นบนเขามหาสวรรค์ และพระราชนามไว้ ให้เป็นเสมือนจอมเจดีย์สำคัญ แห่งเมืองเพชรบุรี
ข้อมูล/ภาพ : นายวสันต์ ญาติพัฒ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี
(จำนวนผู้เข้าชม 1181 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน