เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
การแพทย์ไทยสมัยโบราณ
ย้อนหลังไปในสมัยอยุธยาการแพทย์ของไทยยังคงไว้ซึ่งแบบแผนโบราณ มีการใช้ยาสมุนไพร และวิธีการรักษาพยาบาลตามความเชื่อทางไสยศาสตร์และโชคลาง การเรียนรู้วิชาแพทย์ได้จากการจดจำถ่ายทอดต่อกันมาหรือฝึกฝนทดลองใช้วิธีการต่าง ๆ จนเกิดความชำนาญ หมอบางคนรู้จริง บางคนใช้วิธีเดาสุ่มรักษาหรือใช้เวทมนตร์ ผู้ป่วยบางรายจึงต้องเสี่ยงอันตรายจากยาและวิธีการรักษาบางประเภท
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นการปฏิบัติงานของหมอแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ ๑. หมอหลวง คือ แพทย์ที่รับราชการอยู่ในราชสำนัก และรักษาผู้เจ็บป่วยตามพระบรมราชโองการเท่านั้น ๒. หมอราษฎร์ หรือหมอพื้นเมือง คือ บุคคลทั่วไปที่มีความรู้เกี่ยวกับยาและการรักษาโรค หรือผู้ที่พยายามตั้งตัวเป็นหมอโดยคิดว่าตนเองสามารถทำการรักษาได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ การใช้ยาสมุนไพร ไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา ฯลฯ และเรียกค่าตอบแทนการรักษาได้ตามความพอใจของตน สำหรับยานั้นทำจากสมุนไพรที่ได้จากเปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ รากไม้ อวัยวะของสัตว์บางชนิด น้ำผึ้ง ฯลฯ อาจจะใช้ต้มกินเป็นยาน้ำ บดยาเป็นผง หรือปั้นเป็นลูกกลอน มีการใช้กลวิธีในการปรุงยาหรือผสมยาให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ เช่น การดูฤกษ์ยาม และการใช้เวทมนตร์คาถา เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าการรักษาโรคด้วยสมุนไพรและพิธีกรรมบางอย่างจะดูประหนึ่งว่าไม่มีหลักเกณฑ์ แต่ก็ได้ผลในการรักษาโรคทางกายและจิตใจอยู่มาก
ใน พ.ศ. ๒๓๖๓ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เกิดไข้ป่วงใหญ่ (อหิวาตกโรค) ผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีอาพาธพินาศ โดยมีพระราชดำริถึงความเป็นไข้ซึ่งบังเกิดแก่อาณาประชาราษฎร์เป็นครั้งใหญ่นั้นนับว่าเป็น“กรรมของสัตว์” และยังมีผู้คนในเมืองอื่น ๆ ประสบทุกข์ภัยจากโรคร้ายนี้เช่นเดียวกัน เช่น ที่เกาะหมาก แพทย์ทั้งหลายไม่สามารถจะรักษาโรคนี้ให้หายได้ด้วยยาที่มีอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอาพาธพินาศ โดยให้มีการสวดอาฏานาฏิยสูตรหรือ อาฏานาฏิยปริต ยิงปืนใหญ่รอบพระนคร อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมธาตุมาตั้ง ณ พระมณฑลพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท นิมนต์พระราชาคณะร่วมกระบวนแห่โปรยปรายประน้ำพระปริตรโปรยทรายทั้งทางบกทางเรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนบรรดาข้าราชการ พร้อมกันทรงศีลและรักษาศีล ตั้งใจทำบุญสวดมนต์เป็นการใหญ่ พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นอันมากเพื่อซื้อปลาและสัตว์สี่เท้าสองเท้าทั้งหลายในท้องตลาดปล่อยเป็นการกุศล ปล่อยนักโทษที่ถูกจองจำจนหมดสิ้น แม้จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทำการพระราชพิธีเพื่อปลอบขวัญพระนครและอาณาประชาราษฎร์ ทรงบำเพ็ญทานบารมี แต่ความไข้ก็มิได้เสื่อมทุเลาลง มิสามารถระงับโรคได้ จึงมิได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้อีก แต่พระมหากษัตริย์ได้ทรงหันมาทำนุบำรุงด้านการแพทย์และสาธารณสุข
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนับได้ว่าเป็นปีเริ่มต้นแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันเมื่อมีมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ในเมืองไทยเป็นครั้งแรกได้แก่ ศาสนาจารย์ คาร์ล ออกัสตัส ฟรีดริค กุตสลาฟฟ์ (Carl Augustus Friedrich Gutzlaff) ชาวเยอรมัน และศาสนาจารย์ ยาคอบ ทอมลิน (Jacob Tomlin) ชาวอังกฤษจากสมาคมมิชชันนารีลอนดอน (London Missionary Society) ทั้งสองได้เริ่มงานด้วยการพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับศาสนาออกแจกจ่าย หนังสือเหล่านี้พิมพ์จากประเทศจีน จากนั้น จึงจ่ายยารักษาโรคให้แก่ผู้ป่วยทั้งไทยและจีนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากศาสนาจารย์กุตสลาฟฟ์มีความรู้ด้านการแพทย์ จึงรับรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้แก่คนไทยโดยทั่วไปด้วย นับแต่นั้นเป็นต้นมาคนไทยจึงนิยมเรียกมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ในภายหลังว่า “หมอ” หลังจากที่คริสตจักรอเมริกา (American Board of Commissioners for Foreign Missions) ได้รับรายงานการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทยของศาสนาจารย์กุตสลาฟฟ์ จึงส่งมิชชันนารีเข้ามาอีกหลายครั้ง จนกระทั่งนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๓๗๘ เมื่อหมอบรัดเลย์เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เขาได้เปิดโอสถศาลาขึ้นที่บ้านพัก มีคนไข้มารับการรักษาและได้รับยาเป็นจำนวนมากทุกวัน
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โรคระบาดที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดโรคหนึ่งคือ ไข้ทรพิษ การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเริ่มขึ้นเมื่อปลายพ.ศ. ๒๓๗๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกมิชชันนารีได้พยายามปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษมาหลายปี โดยใช้พันธุ์จากฝีดาษแต่ทว่าไม่มีใครเชื่อถือจนพวกมิชชันนารีทดลองปลูกฝีให้แก่บุตรของตนเองเป็นตัวอย่าง ผู้คนจึงเชื่อว่าปลูกได้จริง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้คนไทยได้รับการปลูกฝี เมื่อได้ทรงทราบว่าหมอมิชชันนารีปลูกฝีได้จริงจึงมีรับสั่งให้หมอหลวงไปหัดปลูกฝีเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๖๐ ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๓๘๒ หมอบรัดเลย์ได้พันธุ์หนองฝีมาจากอเมริกาเป็นครั้งแรก การปลูกฝีจึงเป็นที่แพร่หลาย นับเป็นการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษครั้งแรกในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นมาการแพทย์ของไทยจึงได้รับการพัฒนาตามแนวทางตะวันตกอย่างต่อเนื่องโดยลำดับมาจนถึงปัจจุบัน วิชาความรู้และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยช่วยบำบัดรักษาผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดีคำกล่าวที่ว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” นั้นยังคงเป็นความปรารถนาของทุก ๆ คนเสมอ
เรียบเรียงโดย
นายชรัตน์ สิงหเดชากุล นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มแปลและเรียบเรียง สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
ที่มาของข้อมูล
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2886149994766917&id=346438995404709&__tn__=K-R
(จำนวนผู้เข้าชม 9831 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน