...

วันนี้ในอดีต 21 เมษายน 2566 ครบรอบ 241 ปี วันสถาปนา “กรุงรัตนโกสินทร์” ตอนที่ 2

         วันนี้ในอดีต 21 เมษายน 2566 ครบรอบ 241 ปี วันสถาปนา “กรุงรัตนโกสินทร์” ตอนที่ 1

         ต่อมาในเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน ปีพุทธศักราช 2325 เวลา 06.54 นาฬิกา เป็นวันที่พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทำ “พิธียกเสาหลักเมือง” โดยเป็นประเพณีไทยโบราณเมื่อมีการสร้างเมืองขึ้นใหม่ จะต้องหาฤกษ์มงคลสำหรับฝังเสาหลักเมืองเป็นประการแรก เพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านเมืองและประชาชน 

         โดยเรื่องราวของ “หลักเมือง” คือเรื่องราวที่ปรากฏในลักษณะเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมา และแฝงด้วยความอาถรรพ์ แต่ทว่ายังคงมีเรื่องราวแห่งความจริง ซึ่งเป็นแก่นรวมอยู่ด้วย ยกตัวอย่างเช่นเรื่องราวในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เล่าถึง “หลักเมือง” ไว้ว่า

         “พิธีสร้างพระนครหรือสร้างบ้านสร้างเมืองต้องฝังอาถรรพณ์ ๔ ประตูเมือง ต้องฝังเสาหลักเมือง การฝังเสาหลักเมือง และเสามหาปราสาท ต้องเอาคนมีชีวิตทั้งเป็น ๆ ลงฝังในหลุมเพื่อให้เป็นผู้เฝ้าทวารมหาปราสาทบ้านเมืองป้องกันอริราชศัตรู ในการทำพิธีดังกล่าวนี้ต้องเอาคน ชื่อ อิน จัน มั่น คง มาลงฝังในหลุมจึงจะศักดิ์สิทธิ์ ”

         สำหรับเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ เชื่อว่าได้รับอิทธิพลทางพิธีการของพราหมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องในพิธีจารึกดวงชะตาพระนคร โดยสำคัญอย่างยิ่งในด้านความเชื่อถือ ซึ่งมีผลโดยตรงทางด้านจิตใจและเป็นการสร้างความมั่นใจผ่านทางพิธีกรรมเพื่อความมงคลว่าบ้านเมืองจะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข  นอกจากนั้น ภายหลังยังมีการประดิษฐาน “ศาลเทพารักษ์” เพื่อเป็นที่สถิตของเทพารักษ์ประจำหลักเมือง คอยอำนวยความสุข ความมงคล และป้องกันเภทภัยแก่ผู้ที่เคารพบูชา ประกอบด้วยเทพารักษ์จำนวน ๕ พระองค์ ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และ เจ้าหอกลอง 

         ปัจจุบันเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีเนื้อที่ประมาณ ๑ งาน ๑๕ ตารางวา อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของท้องสนามหลวง ภายในบริเวณเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ ได้จัดพื้นที่ใช้สอยเป็นสัดส่วนรับรองการมาสักระนมัสการของประชาชน

         ในวาระการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๔๑ ปี ในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๖ นี้ ถือเป็นโอกาสดีที่คนไทย โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะได้เรียนรู้และสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดความรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรม

 

(จำนวนผู้เข้าชม 1435 ครั้ง)


Messenger