วันนี้ในอดีต ๒๑ เมษายน ๒๕๖๖ ครบรอบ ๒๔๑ ปี วันสถาปนา “กรุงรัตนโกสินทร์” ตอนที่ ๑
๒๑ เมษายน ๒๕๖๖ วันแห่งการสถาปนา “กรุงรัตนโกสินทร์” และวันยกเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเวลา ๒๔๑ ปี ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี จึงเรียบเรียงเรื่องราวสำคัญนี้ขึ้นมา เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
เป็นเรื่องราวก่อนวันสถาปนา “กรุงรัตนโกสินทร์” รัชสมัยที่ราชธานียังคงเป็น “กรุงธนบุรี”ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่เกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก หรือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ระงับจลาจลราบคาบ และทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๓๒๕
และนำไปสู่เหตุการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อรัชสมัย “กรุงรัตนโกสินทร์” นั้นคือ เหตุการณ์การย้ายราชธานี โดยราชธานีใหม่นั้นก็คือ “กรุงเทพมหานคร” หรือชื่อเต็มในขณะนั้นเรียกกันว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้อธิบายถึงสาเหตุของการย้ายราชธานีในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ว่า
“ฝั่งฟากตะวันออก (กรุงเทพฯ) เป็นที่ชัยภูมิดีกว่าที่ฟากตะวันตก (กรุงธนบุรี) โดยเป็นแหลมมีลำแม่น้ำเป็นขอบเขตต์อยู่กว่าครึ่ง ถ้าตั้งพระนครข้างฝั่งตะวันออก (กรุงเทพฯ) แม้นข้าศึกยกมาติดถึงชานพระนครก็ต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่าอยู่ข้างฝั่งตะวันตก (กรุงธนบุรี) ฝั่งตะวันออก (กรุงเทพฯ) นั้นเสียแต่เป็นที่ลุ่ม เจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก (กรุงธนบุรี) ที่เป็นดอน แต่ก็เป็นที่ท้องคุ้งน้ำเซาะทรุดพังอยู่เสมอไม่ถาวร พระราชนิเวศน์มนเทียรสถานเล่า ก็ตั้งอยู่ในอุปจาร ระหว่างวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดขนาบอยู่ทั้ง ๒ ข้าง ควรเป็นที่รังเกียจ ” โดยสรุปสาเหตุที่ย้ายราชธานีเพราะ
๑. ที่ตั้งราชธานีใหม่ (กรุงเทพฯ) อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา เป็นพื้นที่กว้างขวางเป็นชัยภูมิที่เหมาะแก่การป้องกันตัวเองจากข้าศึก
๒. ที่ตั้งราชธานีเดิม (กรุงธนบุรี) อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยาเป็นที่ที่นํ้าเซาะ
๓. ราชธานีเดิม (กรุงธนบุรี) มีวัดขนาบทั้งสองข้างไม่เหมาะแก่การที่จะขยายพระราชวังออกไปได้อีก
ในวาระการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๔๑ ปี ในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๖ นี้ ถือเป็นโอกาสดีที่คนไทย โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะได้เรียนรู้และสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดความรักและภาคภูมิใจในความเป็นไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรม
(จำนวนผู้เข้าชม 5393 ครั้ง)