จารึกเมืองพิมาย
จารึกเมืองพิมาย เป็นจารึกที่ได้มาจากเมืองพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เนื้อศิลาด้านที่ 2 หักหายไปทั้งหมด ด้านที่ 1 และ 3 เหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนด้านที่ 4 สภาพสมบูรณ์ ข้อความในจารึก
- ด้านที่ 1 เริ่มต้นด้วยการกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้า แล้วกล่าวสรรเสริญพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
- ด้านที่ 2 ชำรุด ไม่สามารถอ่านจับใจความได้
- ด้านที่ 3 ข้อความซีกซ้ายชำรุด ข้อความซีกขวากล่าวถึงรายการสิ่งของที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระราชทาน เช่น โคภิกษา เสื้อผ้า เทียนไข น้ำมัน เนยใส ต้นบุนนาค ถั่ว การบูรสัตว์น้ำ (เหลือบ?/ปลิง?/ปลาไหล?) ดอกไม้ พริก ผักทอดยอด ใบไม้ ต้นไม้ จตุรเฉท ต้นมิตรเทวะ? น้ำผึ้ง
- ด้านที่ 4 กล่าวถึงสิ่งของที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระราชทาน ต่อจากด้านที่ 3 เช่น เสื้อ ภาชนะดีบุก ข้าวสาร กฤษณา(ดีปลี) ยางสนข้น ขี้ผึ้ง
จากนั้นมีการกล่าวห้ามไม่ให้มีการทำร้ายกัน หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ ลงท้ายด้วยการถวายพระพรแด่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
จารึกเมืองพิมายมีเนื้อข้อความคล้ายคลึงกับจารึกด่านประคำ จังหวัดบุรีรัมย์ จารึกปราสาทตาเมียนโตจ และจารึกปราสาท จังหวัดสุรินทร์เกือบทั้งหมด โดยจะมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น ของที่ถวาย สมุนไพร หรือจำนวนเจ้าหน้าที่ กลุ่มจารึกที่มีข้อความคล้ายกันนี้ จึงถูกเรียกว่า จารึกอโรคยศาลในอีกชื่อหนึ่ง มักพบตามศาสนสถานประเภทอโรคยศาล(สุคตาลัย) ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงมีพระบรมราชโองการให้สร้างขึ้นเพื่อรักษาประชาชนตามพระราชปณิธานของพระองค์ ดังปรากฏข้อความในจารึกอโรคยศาลว่า
“โรคทางกายของปวงชนนี้ เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์เอง แต่ความทุกข์ของราษฎร์เปรียบเหมือนความทุกข์ของผู้ปกครอง”
ภาพ : จารึกเมืองพิมาย ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติ
ที่มาภาพ : ฐานข้อมูลจารึกแห่งประเทศ ศูนย์มานุษยวิทยาสินธร (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม
อ้างอิงข้อมูล :
1.ฐานข้อมูลจารึกแห่งประเทศ ศูนย์มานุษยวิทยาสินธร (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม
2. สมบัติ มั่งมีสุขศิริ. โรคและการเยียวยาในจารึกอาโรคยศาล. ในเอกสารการสัมมนาวิชาการเนื่องในวาระฉลอง
อายุครบ 96 ปีของ ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร เรื่อง “ภูมิปัญญาอาเซียน : เวชศาสตร์จารึกและเอกสารโบราณ”. ภาษา-จารึก ฉบับที่ 13. ภาควิชาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
(จำนวนผู้เข้าชม 1022 ครั้ง)