ทับหลังสลักภาพการกวนเกษียรสมุทร เลขทะเบียน 39/41/2520
แบบศิลปะ/สมัย ศิลปะลพบุรี ร่วมสมัยศิลปะขอมแบบบาปวน - นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 17
วัสดุ หินทราย ขนาด กว้าง 62 ซ.ม. ยาว 240 ซ.ม. หนา 40 ซ.ม.
ประวัติ นำมาจากบริเวณโคปุระ หรือระเบียงคต ปราสาทพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
ปัจจุบันจัดแสดงห้องทับหลัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
สาระและความสำคัญ : ทับหลังนี้เล่าเรื่องเกี่ยวกับการอวตารของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ในปางกูรมาวตาร ตอนเกษียรสมุทร สลักภาพเต็มพื้นที่และแบ่งองค์ประกอบภาพตามความกว้างเป็น 2 แนว แนวบนตรงกลางเป็นภาพพระพรหมประทับนั่งขัดสมาธิ ขนาบด้วยภาพเทวดานั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์อยู่ในท่าสมาธิภายในวงรัศมีซึ่งขนาบต่อด้วยแนวเทวะนั่ง พระบาททั้งสองไขว้ขัดกันในท่าโยคปัตน์ ส่วนภาพตอนสำคัญคือการกวนเกษียรสมุทรอยู่แนวล่าง เป็นภาพที่เทวดากับอสูรกำลังยุดชักนาคต่างเชือกรัดเขามันทรที่ใช้ต่างไม้กวนเอาน้ำอมฤต โดยมีเหล่าอสูรชักอยู่ทางเศียรนาค ส่วนเทวดาชักอยู่ทางหางนาค ใต้แนวเขามันทรเป็นรูปเต่ารองรับอยู่ซึ่งคือ "กูรมาวตาร" หรือพระนารายณ์อวตารเป็นเต่า และมีเทวีนั่งคุกเข่าอยู่ด้านหลังของเต่า ซึ่งหมายถึงพระลักษมี เบื้องหน้าเต่ามีหัวม้าอุจไฉศรพัส ทั้งพระลักษมีและม้าอุจไฉศรพัสเป็นของมงคล 2 ใน 14 สิ่งที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทร เหนือแนวลำตัวนาคมีรูปครุฑกำลังเหาะเพื่อพยายามลักน้ำอมฤต
กูรมาวตารเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์หรือพระวิษณุ ที่ทรงอวตารมาเป็นเต่าเพื่อรองรับเขามันทรที่ใช้ในการกวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤตไม่ให้ถูกเจาะทะลุ
บางส่วนจากบทความในนิตยสารศิลปากรปีที่ 50 ฉบับที่ 2 เขียนโดยคุณณัฏฐภัทร จันทวิช นักโบราณคดี 10 ชช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ กรมศิลปากร