เลี้ยงปลาในคอกที่หนองเล็งทราย
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : เลี้ยงปลาในคอกที่หนองเล็งทราย --
ปี พ.ศ. 2515 นายอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย (ในขณะนั้น) มีโครงการที่จะส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาในอำเภอแม่ใจ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และเพิ่มปริมาณปลาให้มีเพียงพอต่อการบริโภค สามารถหาซื้อปลาในท้องที่ได้ในราคาถูก โดยเลือกหนองเล็งทราย ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ในอำเภอแม่ใจเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ และกำหนดว่าจะส่งเสริมการเลี้ยงปลาจีนชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าปลาซ่งฮื้อ (Hypophthalmichthys nobilis) โครงการนี้มีเจ้าหน้าที่จากสถานีประมงจังหวัดเชียงราย (ในขณะนั้น) มาร่วมดำเนินการทดลองเลี้ยงปลาในหนองเล็งทรายด้วย ดังมีรายละเอียดปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุชุดสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา ดังนี้
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2515 นายสืบพงษ์ ฉัตรมาลัย นักวิชาการประมงตรี สถานีประมงจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาร่วมกับเจ้าหน้าที่สภาตำบล และเจ้าหน้าที่อำเภอแม่ใจ ได้รายงานผลการปฏิบัติงานทดลองส่งเสริมการเลี้ยงปลาในคอกที่หนองเล็งทราย โดยเริ่มต้นจากการทำ “คอก” ซ้อนกันสองชั้น ขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 60 เมตร ระดับน้ำลึกโดยเฉลี่ย 1 – 1.60 เมตร ซึ่งก่อนที่จะปล่อยพันธุ์ปลาสำหรับการเลี้ยง ต้องกำจัดปลาเบญจพรรณและศัตรูปลาเสียก่อนเพื่อป้องกันการแย่งอาหาร
ต่อมาหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ จึงเริ่มทำการปล่อยพันธุ์ปลา แต่เนื่องจากทางสถานีฯ ไม่มีพันธุ์ปลาจีนตามที่โครงการกำหนด จึงนำพันธุ์ปลานิลและปลาไนปล่อยแทนไปก่อนในงวดแรก โดยปล่อยปลาไน 1,700 ตัว และปลานิล 500 ตัว น้ำหนักรวม 47.93 กิโลกรัม เมื่อมีพันธุ์ปลาจีนขนาดพอเหมาะแล้วจึงจะจับปลานิลและปลาไนไปขายแล้วนำปลาจีนลงเลี้ยงต่อไป นอกจากนี้ ผู้ดำเนินโครงการยังได้ให้คำแนะนำกับผู้เลี้ยงในการให้อาหารปลาว่า ใช้รำ ปลายข้าว สาหร่าย ต้มผสมกัน โดยให้อาหารปริมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาที่ปล่อยลงไป (ประมาณ 1.43 กิโลกรัม) ต่อวัน
ตอนท้ายของรายงานผลการปฏิบัติงานระบุว่า จะทำการติดตามผลการเลี้ยงปลา โดยหาอัตราการเจริญเติบโตในทุกๆ เดือนเท่าที่ทำได้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่า เราพบเรื่องราวเกี่ยวกับการทดลองเลี้ยงปลาในคอกที่หนองเล็งทรายในเอกสารจดหมายเหตุแต่เพียงเท่านี้ จึงไม่อาจทราบได้ว่า การทดลองเลี้ยงปลาในคอกประสบความสำเร็จเพียงใด และในที่สุดแล้วสามารถนำพันธุ์ปลาซ่งฮื้อมาเลี้ยงในหนองเล็งทรายได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา. เอกสารชุดสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา หจช พย พย กษ 1.1.3/2 เรื่อง การทดลองเลี้ยงปลาในคอกของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา [ 17 ส.ค. 2515 – 11 มิ.ย. 2529 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
ปี พ.ศ. 2515 นายอำเภอแม่ใจ จังหวัดเชียงราย (ในขณะนั้น) มีโครงการที่จะส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาในอำเภอแม่ใจ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และเพิ่มปริมาณปลาให้มีเพียงพอต่อการบริโภค สามารถหาซื้อปลาในท้องที่ได้ในราคาถูก โดยเลือกหนองเล็งทราย ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ในอำเภอแม่ใจเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ และกำหนดว่าจะส่งเสริมการเลี้ยงปลาจีนชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าปลาซ่งฮื้อ (Hypophthalmichthys nobilis) โครงการนี้มีเจ้าหน้าที่จากสถานีประมงจังหวัดเชียงราย (ในขณะนั้น) มาร่วมดำเนินการทดลองเลี้ยงปลาในหนองเล็งทรายด้วย ดังมีรายละเอียดปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุชุดสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา ดังนี้
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2515 นายสืบพงษ์ ฉัตรมาลัย นักวิชาการประมงตรี สถานีประมงจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาร่วมกับเจ้าหน้าที่สภาตำบล และเจ้าหน้าที่อำเภอแม่ใจ ได้รายงานผลการปฏิบัติงานทดลองส่งเสริมการเลี้ยงปลาในคอกที่หนองเล็งทราย โดยเริ่มต้นจากการทำ “คอก” ซ้อนกันสองชั้น ขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 60 เมตร ระดับน้ำลึกโดยเฉลี่ย 1 – 1.60 เมตร ซึ่งก่อนที่จะปล่อยพันธุ์ปลาสำหรับการเลี้ยง ต้องกำจัดปลาเบญจพรรณและศัตรูปลาเสียก่อนเพื่อป้องกันการแย่งอาหาร
ต่อมาหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ จึงเริ่มทำการปล่อยพันธุ์ปลา แต่เนื่องจากทางสถานีฯ ไม่มีพันธุ์ปลาจีนตามที่โครงการกำหนด จึงนำพันธุ์ปลานิลและปลาไนปล่อยแทนไปก่อนในงวดแรก โดยปล่อยปลาไน 1,700 ตัว และปลานิล 500 ตัว น้ำหนักรวม 47.93 กิโลกรัม เมื่อมีพันธุ์ปลาจีนขนาดพอเหมาะแล้วจึงจะจับปลานิลและปลาไนไปขายแล้วนำปลาจีนลงเลี้ยงต่อไป นอกจากนี้ ผู้ดำเนินโครงการยังได้ให้คำแนะนำกับผู้เลี้ยงในการให้อาหารปลาว่า ใช้รำ ปลายข้าว สาหร่าย ต้มผสมกัน โดยให้อาหารปริมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาที่ปล่อยลงไป (ประมาณ 1.43 กิโลกรัม) ต่อวัน
ตอนท้ายของรายงานผลการปฏิบัติงานระบุว่า จะทำการติดตามผลการเลี้ยงปลา โดยหาอัตราการเจริญเติบโตในทุกๆ เดือนเท่าที่ทำได้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่า เราพบเรื่องราวเกี่ยวกับการทดลองเลี้ยงปลาในคอกที่หนองเล็งทรายในเอกสารจดหมายเหตุแต่เพียงเท่านี้ จึงไม่อาจทราบได้ว่า การทดลองเลี้ยงปลาในคอกประสบความสำเร็จเพียงใด และในที่สุดแล้วสามารถนำพันธุ์ปลาซ่งฮื้อมาเลี้ยงในหนองเล็งทรายได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา. เอกสารชุดสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา หจช พย พย กษ 1.1.3/2 เรื่อง การทดลองเลี้ยงปลาในคอกของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา [ 17 ส.ค. 2515 – 11 มิ.ย. 2529 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 146 ครั้ง)