...

พืชผลพะเยา
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : พืชผลพะเยา --
 เมื่อ 32 ปีก่อน จังหวัดพะเยาเคยตั้งเป้าหมายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญไว้ ความน่าสนใจคือคำว่า " พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ " เพราะหมายถึงพืชที่ได้รับการพิจารณาแล้วว่า สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ตอบสนองการค้าขายของจังหวัด หรือเพิ่มปริมาณการส่งออกระดับประเทศ
.
 จากรายงานข้อมูลเป้าหมายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ปรากฏพืชเศรษฐกิจจำนวน 35 ชนิด เรียงลำดับตามประเภท ได้แก่
 1. พืชตระกูลข้าวต่างๆ เช่น ข้าวนาปรัง ข้าวนาปี (ข้าวเจ้า) ข้าวบาร์เลย์ ข้าวบาสมาติ ข้าวเหนียว ฯลฯ
 2. พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียวผิวมัน ถั่วฝักยาว ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ฯลฯ
 3. ผักสวนครัว เช่น กระเทียม พริกเล็ก พริกใหญ่ มะเขือเทศ หอมแดง เห็ดฟาง ฯลฯ
 4. ผลไม้ เช่น มะขามหวาน มะขามเปรี้ยว ลิ้นจี่ กล้วยน้ำว้า ลำไย มะม่วง ฯลฯ
 5. พืชอุตสาหกรรม เช่น ฝ้าย นุ่น ละหุ่ง หม่อนไหม และกาแฟอราบิก้า ฯลฯ
.
 ดังได้กล่าวไว้ตอนต้นว่า พืชเศรษฐกิจเหล่านี้สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร หรือเพิ่มปริมาณการส่งออกระดับประเทศนั้น รายงานข้อมูลเป้าหมายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญฉบับนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดสนับสนุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด หากรายงานสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดพะเยา เพราะมีพืชเศรษฐกิจที่หลากหลาย อีกทั้งยังปลูกพืชแปลกใหม่ (ณ ขณะนั้น) ได้แก่ ข้าวบาสมาติ ข้าวพันธุ์ดีจากอนุทวีปอินเดีย และกาแฟสายพันธุ์อราบิก้า ที่รสชาติเข้มข้นหอมมันเมื่อถูกคั่วสด
.
 สำหรับอีกประเด็นที่ปรากฏในรายงานคือ เป้าหมายการผลิตกับเป้าหมายพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งรายงานได้จำแนกเป็นตารางตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 - 2539 โดยเพิ่มยอดเป้าหมายตลอด 5 ปี แต่ถึงกระนั้นก็มีข้อสงสัยว่า พืชจำพวก " งา เห็ดฟาง ข้าวสาลี ถั่วฝักยาว ละหุ่ง พริกเล็ก กาแฟอราบิก้า และมะม่วงหิมพานต์ " เหตุใดจึงกำหนดเป้าหมายการผลิตแค่หลักหน่วย - หลักร้อย (ตัน) เท่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า จังหวัดอื่นๆ มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีกว่าและเกษตรกรยังไม่นิยมเพาะปลูก ? เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป
.
 และทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือภาพรวมของเป้าหมายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดพะเยาเมื่อ 32 ปีก่อน ในปัจจุบันจำนวนชนิดของพืช การกำหนดเป้าหมายต่างๆนั้น คงมีปริมาณมากขึ้น เพราะคู่แข่งสำคัญไม่ใช่อุปสงค์ - อุปทานภายในประเทศ หากเป็นตลาดจากประเทศจีนและอาเซียน ดังนั้น เป้าหมายต้องเน้นที่ " คุณภาพ " มากกว่าปริมาณอย่างแน่นอน
.
ผู้เขียน: นายธานินทร์ ทิพยางค์ (นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา. เอกสารสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา พย 1.13.1/15 เรื่อง เป้าหมายการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ [ 15 - 17 มิ.ย. 2535 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ







(จำนวนผู้เข้าชม 278 ครั้ง)


Messenger