...

รถแตรมเว
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : “รถแตรมเว” ที่บางมูลนาก --
 ครั้งหนึ่งเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เราเคยเกือบมีเส้นทางรถไฟจากบางมูลนากไปยังหล่มสัก เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เอกสารจดหมายเหตุมีคำตอบ
.
 ข้อมูลจากเอกสารจดหมายเหตุชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงโยธาธิการ ระบุว่า เมื่อเดือนกันยายน ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ผู้แทนเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการในขณะนั้น ได้มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธ์ ราชเลขานุการ ความว่า มิสเตอร์เย. เฟอร์แรนโด ได้ยื่นขออนุญาตสร้างทางรถแตรมแว (tramway) หรือทางรถไฟขนาดกว้าง 0.75 เมตร แยกจากทางรถไฟสายเหนือที่ตำบลบางบุญนาค (ปัจจุบันคืออำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร – ผู้เขียน) ไปยังเมืองหล่มศักดิ์ (หล่มสัก) ในมณฑลเพชรบูรณ์ โดยมิสเตอร์เฟอร์แรนโดให้เหตุผลในการยื่นขออนุญาตว่า พื้นที่นี้แม้จะมีความอุดมสมบูรณ์ แต่เส้นทางสัญจรมีความทุรกันดาร ไม่สะดวกต่อการขนส่งสินค้า ครั้นจะใช้การขนส่งทางเรือขึ้นล่องตามแม่น้ำป่าสัก ปีหนึ่งก็จะเดินเรือได้เพียงสามเดือนเท่านั้น ดังนั้นการสร้างทางรถไฟจะช่วยให้พ่อค้าสามารถขนส่งสินค้าไปมาได้อย่างสะดวก และนำผลประโยชน์มาป้อนทางรถไฟสายเหนือด้วย
.
 อย่างไรก็ตาม พระยาสุขุมนัยวินิตเห็นว่า การสร้างทางรถไฟในประเทศนั้น รัฐบาลจะเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งในขณะนั้นกรมรถไฟได้จัดตั้งกองพนักงานสำหรับสำรวจเส้นทางที่จะก่อสร้างทางรถไฟ จึงไม่อนุญาตให้เอกชนรายใดก่อสร้างทางรถไฟอีก ทั้งนี้พระยาสุขุมนัยวินิตได้ตอบปฏิเสธมิสเตอร์เย. เฟอร์แรนโด ไปแล้วโดยอ้างถึงเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่มีการก่อสร้างทางรถไฟช่วงระหว่างบางมูลนาก – หล่มสักมาจนถึงปัจจุบัน
.
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
.
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงโยธาธิการ ร.5 ยธ. 5.2/15 เรื่อง มิสเตอร์เฟอรันโดขออนุญาตสร้างทางรถไฟคลองรังสิตกับเมืองวัฒนา และขออนุญาตสร้างทางรถแตรมเวที่มณฑลเพ็ชรบูรณ์ [ 14 พ.ย. 115 – 7 ก.ย. 125 ].      
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ



(จำนวนผู้เข้าชม 240 ครั้ง)