เล่าเรื่องเมืองพิจิตร จากรายงานตรวจราชการ (ตอนที่ 2)
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : เล่าเรื่องเมืองพิจิตร จากรายงานตรวจราชการ (ตอนที่ 2) --
ความเดิมจากตอนที่แล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จฯ ตรวจราชการที่เมืองพิจิตร โดยทรงเดินทางด้วยเรือจากเมืองชุมแสง แวะพักที่บางบุญนาค และเดินทางต่อไปยังเมืองพิจิตร ต่อจากนี้คือเรื่องราวต่างๆ ในระหว่างการเสด็จฯ ตรวจราชการเมืองพิจิตร
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ผู้ร้ายลักเรือ
เมื่อเสด็จฯ ถึงเมืองพิจิตรในคืนวันที่ 30 ตุลาคม ร.ศ. 117 ได้ทรงสนทนากับพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร พระยาเทพาธิบดี และพระครูวัดคะมัง ทำให้ทรงทราบว่า แม้บ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องโจรลักเรือ ซึ่งจากรายงานของนายอำเภอเมืองภูมิเมื่อเดือนก่อนระบุว่ามีถึง 3 ราย และไม่สามารถตามเรือกลับมาได้ จากการไต่สวนได้ความว่าการลักเรือมีเฉพาะในฤดูน้ำหลากที่มีเรือไฟเดิน และมีเฉพาะตำบลที่เรือไฟเดินถึงเท่านั้น จึงเข้าใจว่าเรือไฟที่เดินรับ-ส่งผู้โดยสารด้วยนั้นคงจะรับลากเรือที่ผู้ร้ายลักมาลงมาทางใต้ด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทรงแนะนำให้ลองนำ “โปลิศลับ” โดยสารไปกับเรือเมล์ดูสักเดือนสองเดือน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ผู้ว่าฯ นักพัฒนา
วันรุ่งขึ้น (31 ตุลาคม ร.ศ. 117) กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จฯ ตรวจถนนในเมืองพิจิตรซึ่งพระยาเทพาธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองได้สร้างขึ้นตามริมน้ำหน้าเมือง ทรงเล่าว่าเมื่อครั้งที่เสด็จฯ มาตรวจราชการเมืองพิจิตรครั้งก่อนในปี ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435) เมืองพิจิตรยังมีลักษณะเป็นพงป่า มีบ้านเรือนตั้งอยู่ที่ริมตลิ่งไม่กี่หลัง ผู้ว่าราชการเมืองพิจิตรคนก่อนก็อาศัยอยู่ในเรือ เนื่องจากในฤดูแล้งมักจะมีไฟป่าไหม้ลามมาถึงบ้านเรือนราษฎรทุกปี เมื่อผู้ว่าราชการเมืองคนปัจจุบันมารับตำแหน่ง ได้เดินหน้าถางพงจนโล่งเตียน และสร้างถนนในเมืองขึ้นมาสองสาย โดยตัวผู้ว่าฯ เองเข้าไปตั้งบ้านเรือนในถนนสายใน เพื่อเป็นแบบอย่างให้กรมการเมืองพากันมาตั้งบ้านเรือนบนบกบ้าง ซึ่งผลจากการหักร้างถางพงทำให้เมืองพิจิตรมีภูมิทัศน์ดีขึ้น และปัญหาอัคคีภัยก็เบาบางลงไปกว่าแต่ก่อน
.
หลังจากนั้นได้เสด็จฯ ไปตรวจราชการตามสถานที่ราชการต่างๆ ในเมืองพิจิตร ซึ่งมีเกร็ดที่น่าสนใจและจะได้นำเสนอในตอนต่อไป
.
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงมหาดไทย. ร.5 ม 2.14/82 เรื่อง รายงานกรมหมื่นดำรงฯ ตรวจราชการ เมืองพิจิตร เมืองพิษณุโลก [ 12 ต.ค. – 26 พ.ย. 117 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
ความเดิมจากตอนที่แล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จฯ ตรวจราชการที่เมืองพิจิตร โดยทรงเดินทางด้วยเรือจากเมืองชุมแสง แวะพักที่บางบุญนาค และเดินทางต่อไปยังเมืองพิจิตร ต่อจากนี้คือเรื่องราวต่างๆ ในระหว่างการเสด็จฯ ตรวจราชการเมืองพิจิตร
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ผู้ร้ายลักเรือ
เมื่อเสด็จฯ ถึงเมืองพิจิตรในคืนวันที่ 30 ตุลาคม ร.ศ. 117 ได้ทรงสนทนากับพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร พระยาเทพาธิบดี และพระครูวัดคะมัง ทำให้ทรงทราบว่า แม้บ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องโจรลักเรือ ซึ่งจากรายงานของนายอำเภอเมืองภูมิเมื่อเดือนก่อนระบุว่ามีถึง 3 ราย และไม่สามารถตามเรือกลับมาได้ จากการไต่สวนได้ความว่าการลักเรือมีเฉพาะในฤดูน้ำหลากที่มีเรือไฟเดิน และมีเฉพาะตำบลที่เรือไฟเดินถึงเท่านั้น จึงเข้าใจว่าเรือไฟที่เดินรับ-ส่งผู้โดยสารด้วยนั้นคงจะรับลากเรือที่ผู้ร้ายลักมาลงมาทางใต้ด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทรงแนะนำให้ลองนำ “โปลิศลับ” โดยสารไปกับเรือเมล์ดูสักเดือนสองเดือน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ผู้ว่าฯ นักพัฒนา
วันรุ่งขึ้น (31 ตุลาคม ร.ศ. 117) กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จฯ ตรวจถนนในเมืองพิจิตรซึ่งพระยาเทพาธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองได้สร้างขึ้นตามริมน้ำหน้าเมือง ทรงเล่าว่าเมื่อครั้งที่เสด็จฯ มาตรวจราชการเมืองพิจิตรครั้งก่อนในปี ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435) เมืองพิจิตรยังมีลักษณะเป็นพงป่า มีบ้านเรือนตั้งอยู่ที่ริมตลิ่งไม่กี่หลัง ผู้ว่าราชการเมืองพิจิตรคนก่อนก็อาศัยอยู่ในเรือ เนื่องจากในฤดูแล้งมักจะมีไฟป่าไหม้ลามมาถึงบ้านเรือนราษฎรทุกปี เมื่อผู้ว่าราชการเมืองคนปัจจุบันมารับตำแหน่ง ได้เดินหน้าถางพงจนโล่งเตียน และสร้างถนนในเมืองขึ้นมาสองสาย โดยตัวผู้ว่าฯ เองเข้าไปตั้งบ้านเรือนในถนนสายใน เพื่อเป็นแบบอย่างให้กรมการเมืองพากันมาตั้งบ้านเรือนบนบกบ้าง ซึ่งผลจากการหักร้างถางพงทำให้เมืองพิจิตรมีภูมิทัศน์ดีขึ้น และปัญหาอัคคีภัยก็เบาบางลงไปกว่าแต่ก่อน
.
หลังจากนั้นได้เสด็จฯ ไปตรวจราชการตามสถานที่ราชการต่างๆ ในเมืองพิจิตร ซึ่งมีเกร็ดที่น่าสนใจและจะได้นำเสนอในตอนต่อไป
.
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงมหาดไทย. ร.5 ม 2.14/82 เรื่อง รายงานกรมหมื่นดำรงฯ ตรวจราชการ เมืองพิจิตร เมืองพิษณุโลก [ 12 ต.ค. – 26 พ.ย. 117 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 321 ครั้ง)