...

ปัญหา ควาย สะท้อนปัญหา คน
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : ปัญหา “ควาย” สะท้อนปัญหา “คน” --
 ในสมัยก่อน หนังสือพิมพ์นั้นถือได้ว่าเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในการเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชี้ให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประชาชน เพื่อสะท้อนไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งข้อมูลจากเอกสารจดหมายเหตุทำให้เราทราบว่า แม้แต่ปัญหาบางอย่างที่ไม่ค่อยได้เห็นในปัจจุบันแต่เป็นปัญหาสำคัญของประชาชนในอดีตโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ก็เป็นหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ในการชี้ให้เห็นถึงปัญหาและให้ข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะ
.
 ยกตัวอย่างเช่น บทความเรื่อง “ควายเป็นสัตว์ร้าย! ที่น่าควรปราบ” ในหนังสือพิมพ์หลักเมือง ฉบับวันที่ 22 มิถุนายน 2471 เล่าเรื่องราวของเถ้าแก่เซียด ชาวจังหวัดสุโขทัย ที่ถูกควายไล่ขวิดขณะกำลังหอบข้าวของวิ่งหนีฝน เป็นเหตุให้เถ้าแก่เซียดได้รับบาดเจ็บที่ซี่โครงและตามร่างกายอีกหลายจุด เพื่อนบ้านได้ช่วยกันปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบไปตามหมอหลวงที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เวลาผ่านไปหนึ่งชั่วโมงกว่า หมอถึงจะมาโดยที่ไม่มีเครื่องมือช่วยเหลือมาด้วย ต้องกลับไปเอาที่โรงพยาบาลอีกราว 30 นาที สุดท้ายหมอก็ไม่ได้ทำการรักษาหรือให้คำแนะนำใดๆ บอกแต่เพียงว่าเถ้าแก่ไม่รอดชีวิตแน่ และกลับโรงพยาบาลไป ปล่อยให้เถ้าแก่เซียดนอนเจ็บทรมาน ท้ายที่สุดต้องไปตามหมอชาวบ้านที่ไม่มีใบประกาศนียบัตรมารักษาแทน ซึ่งผู้เขียนบทความได้ลงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเรื่องน่าอนาถแท้ๆ ที่นายแพทย์ของภาครัฐไม่สามารถจัดการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นทางจังหวัดสุโขทัยได้มีการเรี่ยไรเงินเพื่อจัดสร้างอาคารและจัดซื้อเครื่องมือให้แก่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ชาวบ้านบางคนถึงกับบ่นว่า เสียดายเงิน 8 บาทที่บริจาคไป ถ้าไม่มีเครื่องมือก็ไม่ควรตั้งโรงพยาบาล
.
 อย่างไรก็ตาม ใจความของบทความชิ้นนี้ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติงานของแพทย์หลวง หากแต่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับควายในท้องที่จังหวัดสุโขทัย เช่น ควายไล่ขวิดชาวบ้าน หรือควายพุ่งชนรถหรือรถชนควายบนถนน โดยผู้เขียนบทความเรียกร้องหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบอันได้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ให้ช่วยกวดขันกฎระเบียบในการควบคุมสัตว์เลี้ยงของเจ้าของที่ออกบังคับใช้แล้วให้เข้มงวดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเรียกร้องไปถึงบรรดาแพทย์ให้ดูแลผู้ป่วยให้ดีกว่านี้ ให้สมกับที่ประชาชนได้ช่วยกันเรี่ยไรเงินเพื่อประโยชน์แก่การบำบัดทุกข์ของพวกเขา
.
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง :
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทย ร.7 ม 26.5 ก/17 เรื่อง จังหวัดสุโขทัย [ 17 พ.ค. 2471 – 7 ต.ค. 2472 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ




(จำนวนผู้เข้าชม 517 ครั้ง)