พระเจดีย์วัดทุ่งยั้ง
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : พระเจดีย์วัดทุ่งยั้ง --
วัดพระบรมธาตุ หรือวัดทุ่งยั้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ถือได้ว่าเป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุมาตั้งแต่ครั้งอดีต พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นมีการบูรณะซ่อมแซมมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งในบางครั้งอาจมีที่มาจากการที่พระเจดีย์พังทลายหรือได้รับความเสียหาย ดังเช่นการพังทลายของพระเจดีย์ครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ปรากฏหลักฐานในเอกสารจดหมายเหตุ และทำให้เราทราบว่า ภายในพระเจดีย์บรรจุสิ่งสำคัญสิ่งใดไว้บ้าง
.
จากข้อมูลในเอกสารจดหมายเหตุชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วัดทุ่งยั้ง เมืองพิไชย ระบุว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ได้เกิดเหตุพระเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมธาตุวัดทุ่งยั้งพังทลายลง ผลจากการพังทลายทำให้ได้พบสิ่งของที่บรรจุอยู่ในพระเจดีย์ อันประกอบด้วย พระบรมธาตุ 2 องค์ กับตลับ 7 ชั้นและโกศทองคำที่ใส่พระบรมธาตุ และพระพุทธรูปทองคำและเงินขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมทั้งสิ่งของอีกหลายรายการ เช่น เศษทองคำ เศษเงิน เหรียญเงินเฟื้องสลึง เหรียญเงินรูเปีย พลอยแหวนสีต่างๆ เครื่องเงินและเครื่องทองเหลือง
.
สำหรับองค์พระบรมธาตุกับตลับ 7 ชั้นและโกศทองคำนั้น ผู้ว่าราชการเมืองพิชัยได้นำไปเก็บรักษาที่เมือง ส่วนสิ่งของอื่นนอกเหนือจากนั้นได้มอบให้เจ้าอธิการแก้วเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งในเวลาต่อมา เจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร เสนาบดีกระทรวงธรรมการในขณะนั้น ได้มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมติอมรพันธุ์ ราชเลขานุการในพระองค์ ความตอนหนึ่งเสนอให้เทศาภิบาลนำพระบรมธาตุที่เก็บรักษาไว้ที่เมืองพิชัย พร้อมทั้งพระธาตุสาวกและพระพุทธรูปทองคำ ส่งเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อประดิษฐานในพระอารามหลวง โดยเจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกรให้เหตุผลว่า วัดทุ่งยั้งเป็นวัดราษฎร์ หากเก็บรักษาไว้ที่เดิมอาจเป็นอันตรายด้วยประการต่างๆ ได้ และทูลขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วย
.
เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า “...สังเกตดูตามรายชื่อสิ่งของ […...] เปนของใหม่ๆ พระบรมธาตุจึงไม่เปนสิ่งซึ่งน่าจะพิศวง ฤๅเลื่อมใสว่าจะวิเศษอย่างไร แต่พระเจดีย์ทุ่งยั้งเองเปนพระเจดีย์มีชื่ออยู่ในเรื่องราวตำนาน จะมีอะไรอยู่ในนั้นฤๅไม่มีก็ตาม คงเปนพระเจดีย์สำคัญ…” และทรงมีพระราชดำริว่าควรจะบรรจุสิ่งซึ่งพบในพระเจดีย์กลับเข้าไปในพระเจดีย์ตามเดิม ดีกว่าจะนำลงมาบรรจุในเจดียสถานที่กรุงเทพฯ และทรงขอให้คิดอ่านเรี่ยรายเงินเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อไป ฉะนั้น จากพระราชดำริดังกล่าวของพระองค์ จึงทำให้พระบรมธาตุยังคงประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ที่วัดทุ่งยั้งเพื่อให้ประชาชนได้เคารพสักการะมาจนถึงปัจจุบัน
.
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
.
เอกสารอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ 6 วัด (ท) / 27 เรื่อง วัดทุ่งยั้ง เมืองพิไชย. [25 – 30 ธ.ค. 127].
2. กรมศิลปากร. ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม 17 จังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ: เอดิสันเพรสโพรดักส์, 2554.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
วัดพระบรมธาตุ หรือวัดทุ่งยั้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ถือได้ว่าเป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุมาตั้งแต่ครั้งอดีต พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นมีการบูรณะซ่อมแซมมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งในบางครั้งอาจมีที่มาจากการที่พระเจดีย์พังทลายหรือได้รับความเสียหาย ดังเช่นการพังทลายของพระเจดีย์ครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ปรากฏหลักฐานในเอกสารจดหมายเหตุ และทำให้เราทราบว่า ภายในพระเจดีย์บรรจุสิ่งสำคัญสิ่งใดไว้บ้าง
.
จากข้อมูลในเอกสารจดหมายเหตุชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง วัดทุ่งยั้ง เมืองพิไชย ระบุว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ได้เกิดเหตุพระเจดีย์ซึ่งบรรจุพระบรมธาตุวัดทุ่งยั้งพังทลายลง ผลจากการพังทลายทำให้ได้พบสิ่งของที่บรรจุอยู่ในพระเจดีย์ อันประกอบด้วย พระบรมธาตุ 2 องค์ กับตลับ 7 ชั้นและโกศทองคำที่ใส่พระบรมธาตุ และพระพุทธรูปทองคำและเงินขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมทั้งสิ่งของอีกหลายรายการ เช่น เศษทองคำ เศษเงิน เหรียญเงินเฟื้องสลึง เหรียญเงินรูเปีย พลอยแหวนสีต่างๆ เครื่องเงินและเครื่องทองเหลือง
.
สำหรับองค์พระบรมธาตุกับตลับ 7 ชั้นและโกศทองคำนั้น ผู้ว่าราชการเมืองพิชัยได้นำไปเก็บรักษาที่เมือง ส่วนสิ่งของอื่นนอกเหนือจากนั้นได้มอบให้เจ้าอธิการแก้วเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งในเวลาต่อมา เจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร เสนาบดีกระทรวงธรรมการในขณะนั้น ได้มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมติอมรพันธุ์ ราชเลขานุการในพระองค์ ความตอนหนึ่งเสนอให้เทศาภิบาลนำพระบรมธาตุที่เก็บรักษาไว้ที่เมืองพิชัย พร้อมทั้งพระธาตุสาวกและพระพุทธรูปทองคำ ส่งเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อประดิษฐานในพระอารามหลวง โดยเจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกรให้เหตุผลว่า วัดทุ่งยั้งเป็นวัดราษฎร์ หากเก็บรักษาไว้ที่เดิมอาจเป็นอันตรายด้วยประการต่างๆ ได้ และทูลขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วย
.
เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า “...สังเกตดูตามรายชื่อสิ่งของ […...] เปนของใหม่ๆ พระบรมธาตุจึงไม่เปนสิ่งซึ่งน่าจะพิศวง ฤๅเลื่อมใสว่าจะวิเศษอย่างไร แต่พระเจดีย์ทุ่งยั้งเองเปนพระเจดีย์มีชื่ออยู่ในเรื่องราวตำนาน จะมีอะไรอยู่ในนั้นฤๅไม่มีก็ตาม คงเปนพระเจดีย์สำคัญ…” และทรงมีพระราชดำริว่าควรจะบรรจุสิ่งซึ่งพบในพระเจดีย์กลับเข้าไปในพระเจดีย์ตามเดิม ดีกว่าจะนำลงมาบรรจุในเจดียสถานที่กรุงเทพฯ และทรงขอให้คิดอ่านเรี่ยรายเงินเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อไป ฉะนั้น จากพระราชดำริดังกล่าวของพระองค์ จึงทำให้พระบรมธาตุยังคงประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ที่วัดทุ่งยั้งเพื่อให้ประชาชนได้เคารพสักการะมาจนถึงปัจจุบัน
.
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
.
เอกสารอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ 6 วัด (ท) / 27 เรื่อง วัดทุ่งยั้ง เมืองพิไชย. [25 – 30 ธ.ค. 127].
2. กรมศิลปากร. ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม 17 จังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ: เอดิสันเพรสโพรดักส์, 2554.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 639 ครั้ง)