ม่อนชิงช้า โรงเรียนประชาบาลแห่งแรกของเมืองลับแล
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : ม่อนชิงช้า โรงเรียนประชาบาลแห่งแรกของเมืองลับแล --
เอกสารจดหมายเหตุในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านการศึกษา อันเป็นยุคเริ่มต้นของการขยายการศึกษาจากเมืองใหญ่ไปสู่ชนบท และการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการเรียนสอนจากเดิมที่สอนโดยพระภิกษุสงฆ์ภายในวัดมาสู่ระบบโรงเรียนในชุมชนที่มีครูผู้สอน ซึ่งในการขยายการศึกษาและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนในที่แห่งใด ย่อมต้องอาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้นำท้องถิ่นประกอบกับความร่วมแรงร่วมใจของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ การจัดการศึกษาจึงจะสำเร็จลุล่วงไปได้
.
ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความพยายามของผู้นำท้องถิ่นในการจัดให้คนในท้องถิ่นของตนมีการศึกษาที่ดีไม่แพ้คนในเมืองใหญ่นั่นคือ เอกสารจดหมายเหตุชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง โรงเรียนม่อนชิงช้า จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งกล่าวถึงการสร้างโรงเรียนในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ว่า แต่เดิมนั้นที่อำเภอลับแลยังไม่มีโรงเรียนสำหรับสอนวิชาความรู้ หลวงศรีพนมมาศ นายอำเภอลับแลจึงเห็นว่าควรจะจัดให้มีโรงเรียนขึ้น โดยเลือกบริเวณม่อนชิงช้า ซึ่งตั้งอยู่ระหว่าง “บ้านดอกช้างยางกระใดหน้าวัดฝ่ายหิน ติดอยู่กับถนนศรีพนมรูปม่อน” เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียน จากนั้นหลวงศรีพนมมาศได้ไปปรึกษากับกรมการอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้านและราษฎร ทุกคนต่างเห็นด้วยที่จะมีโรงเรียน จึงได้เริ่มช่วยกันออกแรงถางปรับพื้นที่เมื่อปลายปี ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446) โดยตั้งใจจะสร้างเป็นอาคารถาวรมุงด้วยกระเบื้องไม้ แต่เมื่อขออนุญาตนำไม้ขอนสักมาสร้างอาคารเรียนกลับไม่ได้รับอนุญาต การสร้างโรงเรียนจึงยังคงค้างอยู่
.
ต่อมาในเดือนเมษายน ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) พระเทพกวี เจ้าคณะมณฑลพิษณุโลก ได้ขึ้นไปตรวจจัดการศึกษาฝ่ายคณะสงฆ์ที่อำเภอลับแล เมื่อได้ทราบถึงเรื่องการตั้งโรงเรียนม่อนชิงช้า พระเทพกวีจึงแนะนำให้สร้างเป็นอาคารชั่วคราวไปพลางก่อน และจะจัดครูฝึกมาให้เป็นครูสอนที่โรงเรียนแห่งนี้ ดังนั้นในเดือนต่อมา หลวงศรีพนมมาศพร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้านและราษฎรจึงร่วมกันปลูกสร้างอาคารเรียนชั่วคราวเป็นเรือนไม้เครื่องผูกมุงหญ้าคาพื้นฝาใช้ฟาก กว้าง 10 ศอก ยาว 10 วา รูปทรงปั้นหยา 1 หลัง ใช้เวลาประมาณ 30 วันจึงแล้วเสร็จ นอกจากการสร้างอาคารเรียนแล้ว หลวงศรีพนมมาศยังได้จัดซื้อและจัดหาพันธุ์ไม้มาปลูกที่รั้วรอบโรงเรียน โดยเฉพาะพันธุ์มะพร้าวและพันธุ์ไม้ผลต่างๆ ซึ่งหลวงศรีพนมมาศเป็นผู้ออกเงินส่วนตัวจัดซื้อทั้งหมด รวมถึงหญ้าคามุงหลังคาและสังกะสีด้วย เมื่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงมีพิธีเปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ร.ศ. 124 โดยเชิญพระยาเทพาธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองพิไชยมาเป็นประธานเปิดโรงเรียน พร้อมทั้งเปิดรับนักเรียนชุดแรกในวันนั้น ซึ่งมีนักเรียนจำนวน 75 คน ส่วนครูผู้สอน พระเทพกวีได้ให้นายเผือก ครูโรงเรียนวัดท่าถนนมาเป็นผู้สอน
.
โรงเรียนแห่งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในเวลาต่อมา โดยหลวงศรีพนมมาศได้บอกบุญเรี่ยไรเงินจากบรรดาข้าราชการ พ่อค้าและราษฎรเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนถาวร เป็นอาคารชั้นเดียว เสาไม้เต็งรัง ฝาไม้กระยาเลย และหลังคามุงกระเบื้อง การก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จในปี ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) ใช้เงินบริจาคทั้งสิ้น 5,142 บาท 16 อัฐ หลวงศรีพนมมาศจึงได้กราบทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) มาทรงเปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 126 (เทียบปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2451) และได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนพนมมาศพิทยากร” ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ยังคงเปิดการเรียนการสอนให้กับลูกหลานชาวอำเภอลับแลสืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ 5 โรงเรียน (ป-ย)/34 เรื่อง โรงเรียนม่อนชิงช้า จ.อุตรดิตถ์. [19 ส.ค. – 10 ก.ย. 124].
2. “แจ้งความกระทรวงธรรมการ แพนกศึกษามณฑล.” (ร.ศ. 127). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 25, ตอนที่ 12 (21 มิถุนายน): 379-380.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
เอกสารจดหมายเหตุในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านการศึกษา อันเป็นยุคเริ่มต้นของการขยายการศึกษาจากเมืองใหญ่ไปสู่ชนบท และการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการเรียนสอนจากเดิมที่สอนโดยพระภิกษุสงฆ์ภายในวัดมาสู่ระบบโรงเรียนในชุมชนที่มีครูผู้สอน ซึ่งในการขยายการศึกษาและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนในที่แห่งใด ย่อมต้องอาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้นำท้องถิ่นประกอบกับความร่วมแรงร่วมใจของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ การจัดการศึกษาจึงจะสำเร็จลุล่วงไปได้
.
ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความพยายามของผู้นำท้องถิ่นในการจัดให้คนในท้องถิ่นของตนมีการศึกษาที่ดีไม่แพ้คนในเมืองใหญ่นั่นคือ เอกสารจดหมายเหตุชุดกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง โรงเรียนม่อนชิงช้า จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งกล่าวถึงการสร้างโรงเรียนในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ว่า แต่เดิมนั้นที่อำเภอลับแลยังไม่มีโรงเรียนสำหรับสอนวิชาความรู้ หลวงศรีพนมมาศ นายอำเภอลับแลจึงเห็นว่าควรจะจัดให้มีโรงเรียนขึ้น โดยเลือกบริเวณม่อนชิงช้า ซึ่งตั้งอยู่ระหว่าง “บ้านดอกช้างยางกระใดหน้าวัดฝ่ายหิน ติดอยู่กับถนนศรีพนมรูปม่อน” เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียน จากนั้นหลวงศรีพนมมาศได้ไปปรึกษากับกรมการอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้านและราษฎร ทุกคนต่างเห็นด้วยที่จะมีโรงเรียน จึงได้เริ่มช่วยกันออกแรงถางปรับพื้นที่เมื่อปลายปี ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2446) โดยตั้งใจจะสร้างเป็นอาคารถาวรมุงด้วยกระเบื้องไม้ แต่เมื่อขออนุญาตนำไม้ขอนสักมาสร้างอาคารเรียนกลับไม่ได้รับอนุญาต การสร้างโรงเรียนจึงยังคงค้างอยู่
.
ต่อมาในเดือนเมษายน ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) พระเทพกวี เจ้าคณะมณฑลพิษณุโลก ได้ขึ้นไปตรวจจัดการศึกษาฝ่ายคณะสงฆ์ที่อำเภอลับแล เมื่อได้ทราบถึงเรื่องการตั้งโรงเรียนม่อนชิงช้า พระเทพกวีจึงแนะนำให้สร้างเป็นอาคารชั่วคราวไปพลางก่อน และจะจัดครูฝึกมาให้เป็นครูสอนที่โรงเรียนแห่งนี้ ดังนั้นในเดือนต่อมา หลวงศรีพนมมาศพร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้านและราษฎรจึงร่วมกันปลูกสร้างอาคารเรียนชั่วคราวเป็นเรือนไม้เครื่องผูกมุงหญ้าคาพื้นฝาใช้ฟาก กว้าง 10 ศอก ยาว 10 วา รูปทรงปั้นหยา 1 หลัง ใช้เวลาประมาณ 30 วันจึงแล้วเสร็จ นอกจากการสร้างอาคารเรียนแล้ว หลวงศรีพนมมาศยังได้จัดซื้อและจัดหาพันธุ์ไม้มาปลูกที่รั้วรอบโรงเรียน โดยเฉพาะพันธุ์มะพร้าวและพันธุ์ไม้ผลต่างๆ ซึ่งหลวงศรีพนมมาศเป็นผู้ออกเงินส่วนตัวจัดซื้อทั้งหมด รวมถึงหญ้าคามุงหลังคาและสังกะสีด้วย เมื่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงมีพิธีเปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ร.ศ. 124 โดยเชิญพระยาเทพาธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองพิไชยมาเป็นประธานเปิดโรงเรียน พร้อมทั้งเปิดรับนักเรียนชุดแรกในวันนั้น ซึ่งมีนักเรียนจำนวน 75 คน ส่วนครูผู้สอน พระเทพกวีได้ให้นายเผือก ครูโรงเรียนวัดท่าถนนมาเป็นผู้สอน
.
โรงเรียนแห่งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในเวลาต่อมา โดยหลวงศรีพนมมาศได้บอกบุญเรี่ยไรเงินจากบรรดาข้าราชการ พ่อค้าและราษฎรเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนถาวร เป็นอาคารชั้นเดียว เสาไม้เต็งรัง ฝาไม้กระยาเลย และหลังคามุงกระเบื้อง การก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จในปี ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) ใช้เงินบริจาคทั้งสิ้น 5,142 บาท 16 อัฐ หลวงศรีพนมมาศจึงได้กราบทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร) มาทรงเปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 126 (เทียบปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2451) และได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนพนมมาศพิทยากร” ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ยังคงเปิดการเรียนการสอนให้กับลูกหลานชาวอำเภอลับแลสืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
1. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ 5 โรงเรียน (ป-ย)/34 เรื่อง โรงเรียนม่อนชิงช้า จ.อุตรดิตถ์. [19 ส.ค. – 10 ก.ย. 124].
2. “แจ้งความกระทรวงธรรมการ แพนกศึกษามณฑล.” (ร.ศ. 127). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 25, ตอนที่ 12 (21 มิถุนายน): 379-380.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 398 ครั้ง)