...

ขอนามถนนตามนามของผู้เป็นนายด้านที่จัดทำ
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ: ขอนามถนนตามนามของผู้เป็นนายด้านที่จัดทำ --
  เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕ หรือ พุทธศักราช ๒๔๔๙  กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือกราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ความว่าพระยาพิศาลคีรีพร้อมด้วยข้าราชการกองบริเวณกับกรมการพิเศษ แลพ่อเมืองแก่บ้านในบริเวณพายัพเหนือได้ขอแรงราษฎรตัดขึ้น ๖ สาย ขอนามถนนตามนามของผู้เป็นนายด้านที่จัดทำ
 สายที่ ๑ ตั้งแต่สนามฝึกหัดทหารไปถึงแม่น้ำวิงแลเมืองเทิง กว้าง ๓ วา ยาว ๗๒๖ เส้น ชื่อถนน พิศาล
 สายที่ ๒ แยกแต่มุมสนามฝึกหัดถึงบ้านทราย กว้าง ๔ วา ยาว ๑๓๔ เส้น ชื่อถนนรองพันบัญชา
 สายที่ ๓ แยกมุมสนามฝึกหัดเลียบไปตามริมแม่น้ำลาวถึงวัดพระนั่งดิน กว้าง ๒ วา ๒ ศอก ยาว ๑๐๙ เส้น ชื่อถนน ศักดาบรรกิจ
 สายที่ ๔ ตั้งแต่ท้ายบ้านมางผ่านไปทานบ้านหย่อนถึงวัดน้ำแวน กว้าง ๒ วา ๒ ศอก ยาว ๖๔ เส้น ๑๐ วา ชื่อถนนไชยสิทธิ์ประชาราษฎร์
 สายที่ ๕ ตั้งแต่บ้านมางผ่านมากลางทุ่งนาถึงบ้านเชียงบาล กว้าง ๒ วา ยาว ๕๕ เส้น ชื่อถนนอำมาตย์บัญชาการ
 สายที่ ๖ ตั้งแต่น่าวัดเชียงบาลผ่านทุ่งบ้านมอกถึงวัดน้ำแวน กว้าง ๒ วา ๒ ศอก ยาว ๗๑ เส้น ๑๐ วา ชื่อถนนกวดกิจการธานี
 ถนนทั้ง ๖ สายนี้ ทำเสร็จแลเปิดให้มหาชนเดินไปมาได้ทุกสายแล้ว บรรดาผู้ที่ได้ออกแรงในการทำถนนทั้งนี้ พร้อมกันขอพระราชทานถวายพระราชกุศล
 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทูลมาว่าทรงอนุโมทนาในส่วนกุศลสาธารณทานนั้นด้วย
 ท่านคิดว่าถนนทั้ง ๖ สายนี้ยังคงอยู่หรือไม่ ถนนทั้ง ๖ สายนี้ อยู่ในพื้นที่อำเภอใดในจังหวัดพะเยา
หมายเหตุ:
๑.การเขียนใช้ตามที่ปรากฏในเอกสาร
๒. มาตราวัดความยาวของไทยเทียบเมตริก
 ๑ เส้น   เท่ากับ ๔๐  เมตร, ๒๕ เส้น เท่ากับ  ๑   กิโลเมตร  
 ๑  วา  เท่ากับ ๒ เมตร, ๑ ศอก  เท่ากับ ๕๐ เซนติเมตร
......................................
ผู้เขียน: นางสาวอรทัย ปานจันทร์ (นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
........................................
อ้างอิง:
๑. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ กระทรวงโยธาธิการ ร.๕ ยธ.๙/๗๖ เรื่อง ถนน สะพานในมณฑลพายัพ [๑๒ ก.พ. ๑๒๐ –๑๕  ก.พ. ๑๒๖].
๒. กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๔๔). วัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพะเยา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
๓. ฮักเชียงคำ.เชียงคำในอดีต (Online). http://www.hugchiangkham.com/. สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๕.
๔. มาตราวัดความยาวของไทยเทียบเมตริก (Online). http://b.lnwfile.com. สืบค้นเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๕.
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ





(จำนวนผู้เข้าชม 3025 ครั้ง)


Messenger