สร้างทางเพื่อเดินรถโดยสาร
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : สร้างทางเพื่อเดินรถโดยสาร --
ในสมัยก่อน ตามหัวเมืองต่างๆ เราจะพบว่า ความเจริญทั้งทางการปกครองและทางเศรษฐกิจ ย่อมจะต้องไปรวมศูนย์กันอยู่ที่เขตตัวเมืองอันเป็นศูนย์กลางของเมืองหรือจังหวัด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชนบทห่างไกล หากมีธุระต้องติดต่อราชการหรือจับจ่ายใช้สอยซื้อขายสินค้า ก็จำเป็นที่จะต้องเดินทางเข้ามาในตัวเมือง ซึ่งแน่นอนว่าการเดินทางเข้าเมืองในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หลายคนต้องเดินเท้าออกจากบ้านมาเป็นวันๆ บางครั้งต้องบุกป่าฝ่าดง ข้ามแม่น้ำลำธารหลายสายถึงจะเข้าเมืองได้ ด้วยเหตุที่ว่าไม่มีถนนที่ได้มาตรฐานที่จะช่วยให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว รวมถึงไม่มีรถโดยสารที่จะช่วยทุ่นเวลาและแรงกายในการเดินทางได้
จากเหตุผลดังกล่าวนี้ ในหลายพื้นที่จึงพบว่ามีเอกชนหลายรายที่ให้ความสนใจในการเปิดเส้นทางเดินรถเพื่อรับส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าไปมาระหว่างตัวเมืองกับตำบลต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล ซึ่งบางครั้งการที่จะได้มาซึ่งสัมปทานหรือสิทธิ์ในการเดินรถนั้น ผู้ประกอบการก็จำเป็นที่จะต้องสร้างถนนขึ้นเองด้วย ดังตัวอย่างในเอกสารจดหมายเหตุที่กล่าวถึงต่อไปนี้
ข้อมูลจากเอกสารจดหมายเหตุชุด เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง สร้างทางเดินรถรับส่งคนโดยสาร จังหวัดลพบุรี สุพรรณบุรี จันทบุรี และอุตรดิตถ์ ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 2471 หม่อมเจ้าดำรัสดำรงค์ เทวกุล เลขานุการเสนาบดีสภา ได้มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรีว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถวายสำเนาหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เอกชนสร้างทางถือสิทธิเดินรถรับจ้างบรรทุกสินค้าและส่งคนโดยสารในจังหวัดต่างๆ รวม 5 สาย ใน 4 จังหวัด หนึ่งในนั้นคือจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีขุนอำไพพานิช เป็นผู้ขอรับสัมปทานการเดินรถโดยสารระยะเวลา 15 ปี (ต่อมาได้รับการเสนอให้ขยายเวลาเป็น 20 ปี) โดยรับผิดชอบในการสร้างทางถมหินลูกรังจากสถานีรถไฟท่าเสา อำเภอบางโพ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน) ผ่านตำบลต่างๆ ตามแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกไปจนถึงตำบลหาดงิ้ว เขตรอยต่อกับอำเภอท่าปลา
ในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างทางและเดินรถฯ ได้ระบุถึงหน้าที่ของผู้รับอนุญาตในการสร้างบำรุงรักษาทางและเดินรถ และรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในการสร้างทางตามมาตรฐานของกรมทาง เช่น เส้นรัศมีของทางเลี้ยวจะต้องยาวไม่ต่ำกว่า 100 เมตร ความลาดชันของทางต้องไม่เกินร้อยละ 5 การถมหินบนหลังทางจะต้องถมหนาอย่างน้อย 15 เซนติเมตรก่อนที่จะบดทับให้แน่น เป็นต้น รวมทั้งหากทางที่ก่อสร้างจำเป็นต้องข้ามลำน้ำหรือทางน้ำต่างๆ ผู้รับอนุญาตก็จะต้องก่อสร้างเอง โดยกรมทางจะเป็นผู้วางแบบและวิธีการก่อสร้างให้
โดยสรุปก็คือ การอนุญาตให้เอกชนสร้างทางพร้อมกับให้สิทธิ์ในการบริการรถโดยสารและขนส่งสินค้านี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของทางการในการช่วยให้ชาวบ้านได้มีเส้นทางในการเดินทางสัญจรที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นแล้ว แล้วยังเป็นการขยายระบบขนส่งสาธารณะไปยังพื้นที่ห่างไกล และเป็นตัวช่วยกระจายความเจริญจากตัวเมืองออกสู่ชนบทอีกด้วย
ผู้เขียน : นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สบ.2.42/144 เรื่อง สร้างทางเดินรถรับส่งคนโดยสาร จังหวัดลพบุรี สุพรรณบุรี จันทบุรี และอุตรดิตถ์. [2 มิ.ย. 2471].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
ในสมัยก่อน ตามหัวเมืองต่างๆ เราจะพบว่า ความเจริญทั้งทางการปกครองและทางเศรษฐกิจ ย่อมจะต้องไปรวมศูนย์กันอยู่ที่เขตตัวเมืองอันเป็นศูนย์กลางของเมืองหรือจังหวัด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชนบทห่างไกล หากมีธุระต้องติดต่อราชการหรือจับจ่ายใช้สอยซื้อขายสินค้า ก็จำเป็นที่จะต้องเดินทางเข้ามาในตัวเมือง ซึ่งแน่นอนว่าการเดินทางเข้าเมืองในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หลายคนต้องเดินเท้าออกจากบ้านมาเป็นวันๆ บางครั้งต้องบุกป่าฝ่าดง ข้ามแม่น้ำลำธารหลายสายถึงจะเข้าเมืองได้ ด้วยเหตุที่ว่าไม่มีถนนที่ได้มาตรฐานที่จะช่วยให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว รวมถึงไม่มีรถโดยสารที่จะช่วยทุ่นเวลาและแรงกายในการเดินทางได้
จากเหตุผลดังกล่าวนี้ ในหลายพื้นที่จึงพบว่ามีเอกชนหลายรายที่ให้ความสนใจในการเปิดเส้นทางเดินรถเพื่อรับส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าไปมาระหว่างตัวเมืองกับตำบลต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล ซึ่งบางครั้งการที่จะได้มาซึ่งสัมปทานหรือสิทธิ์ในการเดินรถนั้น ผู้ประกอบการก็จำเป็นที่จะต้องสร้างถนนขึ้นเองด้วย ดังตัวอย่างในเอกสารจดหมายเหตุที่กล่าวถึงต่อไปนี้
ข้อมูลจากเอกสารจดหมายเหตุชุด เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง สร้างทางเดินรถรับส่งคนโดยสาร จังหวัดลพบุรี สุพรรณบุรี จันทบุรี และอุตรดิตถ์ ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ. 2471 หม่อมเจ้าดำรัสดำรงค์ เทวกุล เลขานุการเสนาบดีสภา ได้มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรีว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถวายสำเนาหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เอกชนสร้างทางถือสิทธิเดินรถรับจ้างบรรทุกสินค้าและส่งคนโดยสารในจังหวัดต่างๆ รวม 5 สาย ใน 4 จังหวัด หนึ่งในนั้นคือจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีขุนอำไพพานิช เป็นผู้ขอรับสัมปทานการเดินรถโดยสารระยะเวลา 15 ปี (ต่อมาได้รับการเสนอให้ขยายเวลาเป็น 20 ปี) โดยรับผิดชอบในการสร้างทางถมหินลูกรังจากสถานีรถไฟท่าเสา อำเภอบางโพ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน) ผ่านตำบลต่างๆ ตามแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตกไปจนถึงตำบลหาดงิ้ว เขตรอยต่อกับอำเภอท่าปลา
ในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างทางและเดินรถฯ ได้ระบุถึงหน้าที่ของผู้รับอนุญาตในการสร้างบำรุงรักษาทางและเดินรถ และรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในการสร้างทางตามมาตรฐานของกรมทาง เช่น เส้นรัศมีของทางเลี้ยวจะต้องยาวไม่ต่ำกว่า 100 เมตร ความลาดชันของทางต้องไม่เกินร้อยละ 5 การถมหินบนหลังทางจะต้องถมหนาอย่างน้อย 15 เซนติเมตรก่อนที่จะบดทับให้แน่น เป็นต้น รวมทั้งหากทางที่ก่อสร้างจำเป็นต้องข้ามลำน้ำหรือทางน้ำต่างๆ ผู้รับอนุญาตก็จะต้องก่อสร้างเอง โดยกรมทางจะเป็นผู้วางแบบและวิธีการก่อสร้างให้
โดยสรุปก็คือ การอนุญาตให้เอกชนสร้างทางพร้อมกับให้สิทธิ์ในการบริการรถโดยสารและขนส่งสินค้านี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของทางการในการช่วยให้ชาวบ้านได้มีเส้นทางในการเดินทางสัญจรที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นแล้ว แล้วยังเป็นการขยายระบบขนส่งสาธารณะไปยังพื้นที่ห่างไกล และเป็นตัวช่วยกระจายความเจริญจากตัวเมืองออกสู่ชนบทอีกด้วย
ผู้เขียน : นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สบ.2.42/144 เรื่อง สร้างทางเดินรถรับส่งคนโดยสาร จังหวัดลพบุรี สุพรรณบุรี จันทบุรี และอุตรดิตถ์. [2 มิ.ย. 2471].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ
(จำนวนผู้เข้าชม 800 ครั้ง)