น้ำท่วมพะเยา
กลางเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒ พายุไต้ฝุ่นบาร์ทเคลื่อนตัวเข้าสู่ทะเลจีนใต้ สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดพะเยาพบร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทยตอนบนกำลัง " ค่อนข้างแรง "
วันที่ ๒๒ กันยายน เวลา ๗ โมงเช้า เกิดฝนฟ้าคะนองกระจายทุกพื้นที่ ปริมาณน้ำฝนวัดได้ ๑๐.๕ มิลลิเมตร แต่ครั้นวันรุ่งขึ้น ปริมาณน้ำฝนเพิ่มเป็น ๗๓.๐ มิลลิเมตร นั่นหมายความว่า " น้ำท่วมพะเยา " !!
จากบันทึกเหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดพะเยาขณะนั้นระบุว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศให้เตรียมรับมือภัยพิบัติตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยออกคำสั่งที่ ๑๐๘๖ / ๒๕๔๒ แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งเน้นการป้องกัน บรรเทา และฟื้นฟูองค์ประกอบทางกายภาพ รวมถึงสภาพจิตใจของประชาชน
แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเตรียมรับมือดังกล่าว พายุไต้ฝุ่นบาร์ทก็ทำความเสียหายให้ทุกพื้นที่ในจังหวัดพะเยา เฉพาะอย่างยิ่งวันที่ ๒๒ - ๒๕ กันยายน เกิดความเสียหายได้แก่ ผู้เสียชีวิต ๑ ราย ไร่นาสูญเสียการเพาะปลูกเกือบหมื่นไร่ บ่อปลาพังทลายพันกว่าไร่ ปศุสัตว์ตายนับหมื่นตัว ถนนและสะพานทรุดหลายแห่ง
ภายหลังพายุสงบ ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว สำนักงานจังหวัดพะเยาเร่งให้ความช่วยเหลือทุกอำเภอ โดยกำหนดงบประมาณดังต่อไปนี้
๑. การฟื้นฟูสาธารณประโยชน์ จำนวนเงิน ๑,๘๕๐,๘๑๔ บาท
๒. ด้านการเกษตร ทดรองจ่ายเพื่อจัดซื้อพันธุ์พืช จำนวนเงิน ๕๙๙,๐๔๐ บาท และขอรับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวนเงิน ๙,๐๒๔,๖๔๕ บาท
๓. ด้านปศุสัตว์ ทดรองจ่ายเพื่อจัดซื้อพันธุ์สัตว์และอาหารสัตว์ จำนวนเงิน ๔๖๖,๘๕๐ บาท และขอรับการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์ จำนวนเงิน ๘๓๐,๒๐๕ บาท
๔. ด้านประมง ทดรองจ่ายเพื่อจัดซื้อพันธุ์ปลาและอาหารปลา จำนวนเงิน ๔๔๖,๓๓๐ บาท และขอรับการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์ จำนวนเงิน ๒,๓๐๗,๑๑๐ บาท
๕. ด้านการประชาสงเคราะห์ ช่วยเหลือจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละ ๑๒,๐๐๐ บาท สงเคราะห์ครอบครัวผู้เสียหาย ครอบครัวละ ๒๕,๐๐๐ บาท ค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น รายละ ๓,๐๐๐ บาท และลงแรงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยใหม่ให้มั่นคงต่อไป
ผู้เขียน : นายธานินทร์ ทิพยางค์ ( นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติฯ พะเยา )
เอกสารอ้างอิง : หจช.พะเยา. จดหมายเหตุอุทกภัยจังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 20 - 25 ก.ย. 2542. มปท.
(จำนวนผู้เข้าชม 1763 ครั้ง)