...

พระวรุณ ณ ปราสาทพนมรุ้ง
องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เรื่อง : พระวรุณ ณ ปราสาทพนมรุ้ง

           เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมากรมอุตุนิยมวิทยานได้ประกาศเตือน “พายุโซนร้อนตาลิม” กำลังขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม ส่งผลให้ในประเทศไทยโดยเฉพาะ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง เกิดพายุฝนฟ้าคะนองในหลายจังหวัด โดยหากพูดถึง “ฝน” ในเชิงวิทยาศาสตร์ สามรถสรุปได้ว่าเกิดจากลมมรสุมลอยตัวขึ้นสูงในอากาศก่อตัวเป็นเมฆ และสะสมหยดน้ำไว้เรื่อย ๆ จนตกลงมาเป็นฝนในที่สุด แต่ในยุคที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ การเกิดขึ้นของ “ฝน” ถือว่าเป็นปรากกฎการเหนือทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้คนในสมัยโบราณ เช่น อินเดียโบราณ และขอมโบราณ ต่างเชื่อกันว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมของ “พระวรุณ” เทพแห่งสายฝน 
          พระวรุณ เป็นเทพบุตร ผิวกายสีขาวผ่อง มี ๔ กร หรือ ๖ กร พระหัตถ์ถืออาโภค (ร่มที่ถูกน้ำไม่เปียก) บ่วงบาศ (ใช้คล้องคนไม่ดี) บางทีก็ถือหม้อน้ำ คันศร หอยสังข์ หีบแก้วมณี หรือดอกบัว ทรงพัสตราภรณ์แบบกษัตริย์ มีพาหนะคือหงส์ พญานาค และจระเข้ มีวิมานแก้วอยู่บนยอดเขาปุษปะศีรีซึ่งอยู่ใต้ระดับทะเล ประทับบนบัลลังก์ใต้เศียรพญานาค เดิมทีพระวรุณเป็นเทพชั้นสูงในสมัยพระเวทของอินเดียโบราณ และได้รับยกย่องให้เป็นเทพแห่งน้ำและฝน แต่เนื่องด้วยการปรับเปลี่ยนของศาสนาพราหมณ์ฮินดูในช่วงเวลาต่อมา พระวรุณจึงถูกลดขั้นกลายเป็นเพียงเทพประจำทิศด้านทิศตะวันตก ตามคติเทพผู้รักษาทิศของเขาไกรลาส 
          จากหลักฐานพบที่ปราสาทพนมรุ้ง พบการสลักภาพ “พระวรุณทรงนาค” บนลูกบาศก์หินทราย  และ “พระวรุณทรงหงส์” บนบันแถลงซึ่งเป็นส่วนประดับบนส่วนเรือนยอดของปราสาทประธานด้านทิศตะวันตก จำนวน ๔ ภาพลดหลั่นขึ้นไปตามลำดับชั้น โดยจัดอยู่ในศิลปะขอมแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นที่น่าสนใจว่าปราสาทหินในวัฒนธรรมขอมโบราณภาพสลักพระวรุณทรงนาคนั้นพบที่ปราสาทพนมรุ้งเพียงแห่งเดียวเท่านั้น 
          ทั้งนี้เปรียบเทียบศาสนสถานวัฒนธรรมขอมแห่งอื่น ๆ พบว่า ภาพพระวรุณจะนิยมสลักไว้บริเวณทับหลังโดยมีพาหนะเป็นหงส์ ได้แก่ ทับหลังที่ปราสาทตาเล็ง จังหวัดศรีสะเกษ , ทับหลังที่กู่พราหมณ์จำศีล จังหวัดนครราชสีมา และทับหลังบริเวณปราสาทบริเวณองค์ทิศใต้ ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น ซึ่งตำแหน่งของทับหลังและบันแถลงล้วนอยู่เหนือกรอบประตูขึ้นไป จึงตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นการจำลองขณะพระวรุณกำลังขี่หงส์เพื่อทำหน้าที่รักษาทิศตะวันตกของเขาพระไกรลาสบนสวงสรรค์ ส่วนภาพสลักพระวรุณทรงนาคบนลูกบาศก์ที่ปราสาทพนมรุ้ง มีจุดประสงค์เพื่อตั้งไว้บนพื้นราบจึงเป็นไปได้ว่าอาจสื่อถึงพระวรุณขณะประทับอยู่บนบัลลังก์นาค ณ วิมานแก้วบนยอดเขาปุษปะศีรีซึ่งอยู่ใต้ระดับทะเล หรืออาจสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากพระวรุณและนาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำและฝนสำหรับเกษตรกรรม
          คติความเชื่อเรื่องพระวรุณได้ถูกสืบทอดและอยู่คู่กับสังคมไทยมาจนถึงในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากรากฐานของสังคมไทยคือเกษตรกรรมซึ่งพึ่งพาน้ำและฝนเป็นหลัก ตามความเชื่อว่าพระวรุณนั้นทรงสามารถบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ หรือเป็นเทพที่ให้คุณทางด้านการเกษตร ดังนั้นในปัจจุบันจึงพบพระวรุณทรงนาคอยู่ในตราของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งหมายถึงถึงความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง
เรียบเรียงโดย : นายพงศธร ดาวกระจาย ผู้ช่วยนักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เอกสารอ้างอิง :
ณัฐพล คำนงค์. “พระวรุณในสมัยรัตนโกสินทร์” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๗. 
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพมหานคร: มติชน, ๒๕๕๑.
เสน่  ประกอบทองและคณะ. เทพประจำทิศ เทพพาหนะ. พิมพ์ครั้งที่๑. นครราชสีมา: โจเซฟ พลาสติกการ์ด(โคราช)แอนด์ ปริ้นท์, ๒๕๔๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 549 ครั้ง)


Messenger