ปีใหม่ไทยสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ปราสาทพนมรุ้ง
องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เรื่อง : ปีใหม่ไทยสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ปราสาทพนมรุ้ง
เนื่องในวาระวันปีใหม่ไทย เทศกาลสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๕ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ขอเชิญชวน
นักท่องเที่ยวที่แวะมาเที่ยวชมปราสาทพนมรุ้ง ศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรโบราณ อายุกว่า ๙๐๐ ปี ที่สร้างขึ้น
เพื่อเป็นเทวลัยสำหรับบูชาพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ท่องเที่ยวเช็คอิน
ขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่ประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทพนมรุ้งแห่งนี้ เพื่อเสริมความสิริมงคลแก่ชีวิตต้อนรับปีใหม่ไทย อันได้แก่
นักท่องเที่ยวที่แวะมาเที่ยวชมปราสาทพนมรุ้ง ศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรโบราณ อายุกว่า ๙๐๐ ปี ที่สร้างขึ้น
เพื่อเป็นเทวลัยสำหรับบูชาพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ท่องเที่ยวเช็คอิน
ขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่ประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทพนมรุ้งแห่งนี้ เพื่อเสริมความสิริมงคลแก่ชีวิตต้อนรับปีใหม่ไทย อันได้แก่
(ภายในเขตโบราณสถานไม่อนุญาตให้นำพวงมาลัย ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบ เข้ามาสักการะด้านในโดยเด็ดขาด! รวมไปถึงกระทำการที่เสี่ยงให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถาน ทั้งนี้ในเขตโบราณสถานอนุญาตเพียงการแสดงความเคารพด้วยการยกมือไหว้เพื่อขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น)
(หากต้องการประกอบพิธีบวงสรวง ด้วยเครื่องบวงสรวง ธูปเทียน ฯลฯ ต้องมาขออนุญาตที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง และทำพิธีเฉพาะบริเวณที่อุทยานฯจัดไว้ให้เท่านั้น)
๑. ศิวลึงค์ ประดิษฐานเป็นประธานของปราสาทพนมรุ้ง เป็นตัวแทนขององค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ตั้งอยู่ภายในห้องครรภคฤหะ ณ ปราสาทประธานของปราสาทพนมรุ้ง ดังนั้นการมาขอพรกับศิวลึงค์จึงเชื่อว่าเป็นการขอพรต่อองค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดผู้สามารถประทานพระได้ทุกสรรพสิ่ง
๒. หน้าบันโยคะทักษิณามูรติ อยู่บริเวณโคปุระด้านทิศตะวันออกของปราสาทพนมรุ้ง เป็นภาพสลักพระศิวะในปางมหาโยคี หรือ ภาพสลักดังกล่าวอาจเป็นภาพสลักของนเรนทราทิตย์ ผู้สร้างปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งออกบวชเป็นโยคีอยู่ที่ปราสาทพนมรุ้งแห่งนี้ก็เป็นได้ ด้านล่างของหน้าบัน พบการสลักภาพคนถูกงูกัด ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวในจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้งเนื้อหากล่าวถึง นเรทราทิตย์เป็นผู้วิเศษสามารถรักษาผู้คนที่ถูกงูกัดให้ฟื้นคืนจากความตายได้ ดังนั้นการขอพรสักการะที่หน้าบันดังกล่าว จึงมีความเชื่อว่าช่วยรักษาความเจ็บป่วย หรือโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้
๓. ดอกบัวแปดกลีบ สลักอยู่บริเวณกึ่งกลางของสะพานนาคราชชั้นที่ ๑ และ ๒ ของปราสาทพนมรุ้ง ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ จุดกำเนิด และการบูชา การทำเป็นรูป ๘ กลีบ หมายถึงทิศทั้ง ๘ ทิศ หรือการเป็นศูนย์กลางของทิศทั้ง ๘ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและจุดกำเนิดของทุกสรรพสิ่ง ดังนั้นการขอพรกับดอกบัวแปดกลีบจึงเปรียบเสมือนการขอพรต่อเทพประจำทิศทั้ง ๘ ในคติศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ให้ช่วยปกป้องภัยอันตรายต่าง ๆ เหมือนดังการทำหน้าที่ปกป้องพระศิวะนั่นเอง
๔. ประติมากรรมโคนนทิ ตั้งอยู่ภายในมณฑปทิศตะวันออกของปราสาทประธาน โคนนทิเป็นพาหนะของพระศิวะ หันหน้าไปยังศิวลึงค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะที่ประดิษฐานเป็นประธานของเทวาลัย ในคติศาสนาพราหมณ์ฮินดู วัวถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เป็นเนื่องจากเป็นพาหนะของพระศิวะ หรือตัวแทนของการเกษตรกรรม ดังนั้นเชื่อว่าการขอพรกับโคนนทิ สามารถช่วยให้การเพาะปลูก การเกษตรกรรมต่าง ๆ ราบรื่นและอุดมสมบูรณ์
๕. ท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณ เป็นแท่นหินทรายทรงลูกบาศ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของปราสาทประธานปราสาทพนมรุ้ง (ใกล้กับท่อโสมสูตร) ตามคติในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู เป็นเทพประจำทิศเหนือและเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย ดังการการขอพรสักการะกับท้าวกุเวร จึงเชื่อว่าจะช่วยเสริมความมงคลในด้านการเงิน โชคลาภ และเสริมบารมีความมั่งคั่งร่ำรวย
เรียบเรียงโดย นายพงศธร ดาวกระจาย ผู้ช่วยนักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เอกสารอ้างอิง:
พิสิฐ เจริญวงศ์ และคณะ. ปราสาทพนมรุ้ง. พิมพ์ครั้งที่ ๖. บุรีรัมย์: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ปราสาทพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๙.
เสน่ ประกอบทอง และคณะ. เทพประจำทิศ เทพพาหนะ. พิมพ์ครั้งที่ ๑. นครราชสีมา: โจเซฟ พลาสติกการ์ด(โคราช)แอนด์ ปริ้นท์, ๒๕๔๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 2768 ครั้ง)