...

ประติมากรรมรูปสตรี พบจากการขุดแต่งปราสาทเมืองต่ำ

องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

เรื่อง : ประติมากรรมรูปสตรี พบจากการขุดแต่งปราสาทเมืองต่ำ

ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเขาพนมรุ้งประมาณ ๗ กิโลเมตร เป็นปราสาทบนที่ราบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบริเวณเขาพนมรุ้ง - เขาปลายบัด ปราสาทแห่งนี้ได้รับการขุดค้น ขุดแต่ง จากกรมศิลปากรเมื่อปี ๒๕๓๑ - ๒๕๓๒ และดำเนินการบูรณะด้วยวิธีอนัสติโลซิสจนแล้วเสร็จในปี ๒๕๓๙

จากการขุดค้น ขุดแต่งครั้งนั้น ได้พบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญหลายรายการ เช่น ศิวลึงค์หินทราย แผ่นทองคำรูปดอกบัวแปดกลีบ ประติมากรรมรูปบุรุษ และประติมากรรมรูปสตรี เป็นต้น ในบรรดารูปเคารพที่พบ ประติมากรรมรูปสตรีมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากประติมากรรมชิ้นนี้ พบชิ้นส่วนกระจายอยู่ต่างที่กัน กล่าวคือ ขุดพบพระกรซ้ายบริเวณด้านหน้าปราสาทอิฐด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นขุดพบส่วนพระอุระบริเวณด้านหน้าของปราสาทประธานฝั่งซ้าย และพบท่อนพระวรกายจรดข้อพระบาทรวมถึงส่วนฐานบริเวณด้านหน้าปราสาทประธานฝั่งขวา เมื่อนำชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน ปรากฏว่าเข้ากันได้สนิท เป็นประติมากรรมชิ้นเดียวกัน อย่างไรก็ตามประติมากรรมชิ้นนี้ยังไม่สมบูรณ์ ขาดในส่วนของพระเศียร พระกรด้านขวา และข้อพระบาทด้านซ้ายซึ่งสูญหายไป

จากชิ้นส่วนที่เหลืออยู่มีลักษณะเป็นรูปสตรียืนในท่าสมภังค์ (ยืนตรง) สูง ๕๘ เซนติเมตร พระหัตถ์ซ้ายจีบนิ้วชี้จรดหัวแม่มือ พระวรกายส่วนพระอุระเปลือยเปล่าไม่มีเครื่องประดับ ในส่วนของผ้านุ่งมีลักษณะยาวเป็นริ้วขอบผ้าด้านบนเว้าลง มีชายพกทางด้านซ้าย ด้านหน้ามีชายผ้าห้อยลงเป็นรูปคล้ายหางปลา และมีเข็มขัดคาดทับ ๑ เส้น มัดปลายเข็มขัดเป็นเงื่อนที่ด้านหน้า เป็นลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวน อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๖ หรือประมาณ ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับ ประติมากรรมรูปสตรีพบที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ และนางอัปสรคู่พบที่ศาลพระกาฬ จังหวัดลพบุรี

สันนิษฐานว่ารูปเคารพดังกล่าวอาจเป็นพระอุมาชายาของพระศิวะ เนื่องจากที่ปราสาทประธาน ปราสาทเมืองต่ำได้ขุดพบศิวลึงค์หินทรายองค์ใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเนื่องในลัทธิ ไศวนิกาย และประติมากรรมรูปสตรีองค์นี้เดิมก็น่าจะเคยประดิษฐานบริเวณปราสาทประธานด้วยเช่นกัน ปัจจุบันประติมากรรมรูปสตรีเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จังหวัดนครราชสีมา

เรียบเรียงโดย: นายกฤษณพงศ์ พูนสวัสดิ์ นักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

เอกสารอ้างอิง:

กรมศิลปากร, สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๙ นครราชสีมา. ปราสาทเมืองต่ำ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๐.

สามารถ ทรัพย์เย็น และคณะ. รายงานการขุดแต่งโบราณสถานปราสาทเมืองต่ำ และการขุดตรวจเพื่อค้นหาแหล่งชุมชนโบราณบริเวณโดยรอบปราสาทเมืองต่ำ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๖.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ประติมากรรมขอม. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๑๕.

สัมภาษณ์

นัยนา มั่นปาน, ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย. สัมภาษณ์ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๔.

วิเชียร อริยเดช, ข้าราชการบำนาญ อดีตนายช่างศิลปกรรม ๖ ทีมงานบูรณะปราสาทเมืองต่ำ. สัมภาษณ์ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๔.

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 1448 ครั้ง)


Messenger