...

ภูเขาไฟพนมรุ้ง

องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

เรื่อง : ภูเขาไฟพนมรุ้ง

จังหวัดบุรีรัมย์นับเป็นดินแดนแห่ง ภูเขาไฟซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศที่ราบสูงเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อประมาณ ๙ แสนถึง ๑ ล้านปีมาแล้ว โดยเป็นจังหวัดที่มีภูเขาไฟมากที่สุดถึง ๖ ลูกด้วยกัน ได้แก่ เขาพนมรุ้ง เขาอังคาร เขาไปรบัด เขาหลุบ เขากระโดง และเขาคอก

ในบรรดาภูเขาไฟทั้ง ๖ ลูก เขาพนมรุ้งเป็นภูเขาไฟที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว เช่นเดียวกับเขาอังคารและเขาไปรบัด วางตัวยาวตามแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ ประมาณ ๕ กิโลเมตร และกว้างตามแนวทิศตะวันออก - ทิศตะวันตก ประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร บริเวณไหล่เขามีความลาดชันประมาณ ๖ - ๑๕ องศา ส่วนยอดเขาสูงสุดจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๓๘๖ เมตร มีส่วนของปล่องปะทุภูเขาไฟครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑๖๐ ไร่ หรือประมาณ ๒๕๖,๐๐๐ ตารางเมตร โดยขอบปากปล่องด้านทิศเหนือเป็นสถานที่ตั้งสถานีรายงานเขาพนมรุ้ง กองทัพอากาศ ส่วนด้านทิศใต้เป็นที่ตั้งของปราสาทพนมรุ้งศาสนสถานในวัฒนธรรมขอมที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ด้วยความอุดมสมบูรณ์จากแร่ธาตุของเถ้าภูเขาไฟทำให้ผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์โดยปรากฏหลักฐานแหล่งโบราณคดีโดยรอบ เช่น แหล่งโบราณคดีโคกฝรั่ง แหล่งโบราณคดีโคกเขว้า-ห้วยตะแบง และต่อมาในสมัยวัฒนธรรมเขมรได้สถาปนาให้ภูเขาลูกนี้เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์สร้างปราสาทพนมรุ้งเพื่อให้เป็นเขาไกลาส ที่ประทับของพระศิวะตามความเชื่อแบบไศวนิกาย

อีกทั้งคนโบราณได้ดัดแปลงบริเวณปากปล่องภูเขาไฟทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทพนมรุ้งให้เป็นสระสำหรับกักเก็บน้ำ มีทั้งหมด ๗ สระ เพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภค นอกจากนี้ยังมีการนำเอาหินบะซอลต์ที่ได้จากภูเขาไฟมาใช้ในการก่อสร้างด้วย เช่น กำแพงแก้วของพลับพลาเปลื้องเครื่อง กำแพงแก้วของสระน้ำโบราณ และพื้นระเบียงคตด้านทิศเหนือของปราสาทพนมรุ้ง โดยสันนิษฐานว่าแหล่งตัดหินน่าจะเป็นบริเวณขอบสระน้ำหมายเลข ๖ ที่เคยเป็นปากปล่องภูเขาไฟมาก่อนเนื่องจากพบร่องรอยการสกัดหิน

ภูเขาไฟพนมรุ้งแห่งนี้ มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยแร่ธาตุ และแหล่งอาหาร ทำให้ผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยใช้งานต่อเนื่องหลายยุคสมัย โดยมีปราสาทพนมรุ้งที่สร้างอยู่บนยอดเขา เป็นศูนย์กลางทางความเชื่อของผู้คนแถบนี้มาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย: นายวิธาน ศรีขจรวุฒิศักดิ์ นักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

เอกสารอ้างอิง:

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดบุรีรัมย์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๔.

จรรยา มาณะวิท และคณะ. อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ. พิมพ์ครั้งที่ ๔. นครราชสีมา: สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา กรมศิลปากร, ๒๕๕๗.

พิสิฐ เจริญวงศ์ และคณะ. ปราสาทพนมรุ้ง. พิมพ์ครั้งที่ ๖. บุรีรัมย์: อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.

วสันต์ เทพสุริยานนท์. รายงานการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี สระน้ำโบราณประจำปราสาทพนมรุ้ง. บุรีรัมย์: อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง, ๒๕๖๐.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ปราสาทเขาพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๕. สมุทรปราการ: เรือนบุญ, ๒๕๔๙.

ดาวน์โหลดไฟล์: ภูเขาไฟพนมรุ้ง.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 12332 ครั้ง)


Messenger