องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เรื่อง : บราลี เครื่องประดับสถาปัตยกรรมในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ณ ปราสาทพนมรุ้ง
บราลี เป็นส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมโบราณ มีลักษณะเป็นแท่งทรงกรวยยอดเล็กแหลม คล้ายดอกบัวตูม ประดิษฐ์เป็นแบบต่างๆ กัน ใช้ประดับเรียงเป็นแถวตามแนวสันหลังคาหรืออกไก่
ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ที่นิยมสร้างปราสาทหิน ได้พบหลักฐานการใช้บราลีประดับตกแต่ง ณ ส่วนต่างๆ เช่น สันหลังคาปราสาท สันหลังคาระเบียงคต และสันหรือบนทับหลังของกำแพง เป็นต้น
ที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้พบหลักฐาน “บราลี” ที่ทำมาจากวัสดุศิลาทราย ดินเผา ตลอดจนภาพสลักเล่าเรื่อง มีรายละเอียดดังนี้
บราลีศิลาทราย ใช้สำหรับปักประดับสันหลังคาอาคารที่สร้างจากหิน เช่น สันหลังคามุขและมณฑปปราสาทประธาน สันหลังคาของโคปุระและระเบียงคต มีลักษณะรูปทรงคล้ายดอกบัวตูมปักเรียงเป็นแถวตามแนวสันหลังคาที่ก่อด้วยศิลาทรายทรงประทุนเรือ สกัดร่องภายนอกหลังคาเลียนแบบกระเบื้องกาบู นอกจากนี้ยังพบบราลีศิลาทรายรูปทรงอื่นๆ ซึ่งก็น่าจะเคยใช้ประดับอาคารประเภทหินเช่นกัน
บราลีดินเผา พบอยู่บริเวณโดยรอบปราสาทพนมรุ้ง ร่วมกับเศษกระเบื้องมุงหลังคาและกระเบื้องเชิงชาย อันแสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เคยมีอาคารหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องและประดับด้วยบราลีดินเผาดังกล่าว เนื่องจากมีน้ำหนักเบากว่า เหมาะสมกับอาคารประเภทเครื่องไม้
ในส่วนหลักฐาน บราลี จากภาพสลักเล่าเรื่องนั้น ที่หน้าบันชั้นที่ ๑ ของมุขปราสาทประธานด้านทิศตะวันตก เล่าเรื่องตอนศึกอินทรชิต กลางหน้าบันเป็นภาพบุษบกรูปทรงปราสาท สลักภาพบราลีประดับบนสันหลังคามุขที่ยื่นออกมาทั้งสองข้าง และอีกจุดหนึ่งคือ หน้าบันชั้นที่ ๓ ของมุขปราสาทประธานด้านทิศตะวันตก เป็นภาพอุมามเหศวร ประทับในวิมานรูปทรงปราสาท มีด้านล่างมีกลุ่มบุคคลนั่งอยู่ภายในอาคารโถงที่ประดับสันหลังคาด้วยแถวบราลี
หากพิจารณาหน้าที่การใช้งาน (function) ของบราลี ในงานสถาปัตยกรรมขอมโบราณ ก็คือใช้เป็นเครื่องประดับสถาปัตยกรรม มิให้มีพื้นที่ว่างหรือดูราบเรียบเกินไปนัก หากแต่ได้ก่อให้เกิดมิติที่งดงาม อลังการ เป็นทรงเล็กๆ แหลมๆ เรียงตัวต่อเนื่องกันไป และด้วยรูปทรงของบราลีที่ทำเป็นรูปดอกบัวตูมก็อาจมีความเกี่ยวข้องกับดอกบัว ดอกไม้มงคลตามความเชื่อทางศาสนาด้วยก็เป็นได้
เรียบเรียงโดย: นายสุทธินันท์ พรหมชัย ผู้ช่วยนักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เอกสารอ้างอิง:
พิสิฐ เจริญวงศ์ และคณะ. ปราสาทพนมรุ้ง. พิมพ์ครั้งที่ ๖. บุรีรัมย์: อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๔¬๘.
สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๐.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ปราสาทพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๕. สมุทรปราการ: เรือนบุญ, ๒๕๔๙.
มิรา ประชาบาล. เครื่องถ้วยสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาเผาบุรีรัมย์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๓๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 1400 ครั้ง)