อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ Phanom Rung Historical Park
องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เรื่อง : ไศวนิกายแบบปศุปตะ ณ ปราสาทพนมรุ้ง
ปศุปตะ เป็นลัทธิไศวนิกายแบบแรก ๆ ที่กำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย สันนิษฐานว่าเจริญเติบโตขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๘ โดยแสดงความเป็นเจ้าแห่งสรรพสัตว์ทั้งปวง ดั่งพระนามหนึ่งของพระศิวะ คือ “ปศุปติ” แปลว่า เจ้าแห่งสรรพสัตว์ หรือเจ้าแห่งปศุปตะ หรือเจ้าแห่งจิตวิญญาณ ปรากฏอยู่ในคัมภีร์เก่าแก่ ไศวภาควัต มหากาพย์มหาภารตะ กล่าวถึงพวกปศุปตะว่านิยมบูชาพระศิวะในรูปศิวลึงค์ ทาตัวด้วยเถ้าถ่านจากการเผาศพเช่นเดียวกับพระศิวะ มีลาคุลิสะหรือนาคุลิสะ (Lakulisa or Nakulisa) เป็นศาสดาและเป็นผู้นำของนิกายนี้ เป็นผู้รจนา “ปศุปตะสูตร” (Pasupata Sutra) ซึ่งเป็นคัมภีร์หลักว่าด้วยการปฏิบัติตามลัทธิไศวนิกาย แบบปศุปตะ มีสานุศิษย์ที่สำคัญ ๔ ท่าน คือ คุสิกะ การ์กะ มิหิระ (มิตระ) และเการุสยะ (ภาพฤๅษี ๕ ตนที่ปราสาทพนมรุ้ง สันนิษฐานว่าอาจเป็นลาคุลิสะและสานุศิษย์ทั้ง ๔) โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือ การเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า (พระศิวะ) ในทุกหนแห่ง ทั้งภายในและภายนอก ด้วยการเริ่มฝึกปฏิบัติภายนอก ได้แก่ การทรมานกาย การปฏิบัติโยคะ การปฏิบัติตนตามหลักของปศุปตะ ไปจนถึงการปฏิบัติภายใน ได้แก่ การฝึกบำเพ็ญสมาธิ
จากการศึกษาศิลาจารึกหลักต่าง ๆ พบที่ปราสาทพนมรุ้ง จารึก K.๓๘๔ ซึ่งเป็นจารึกภาษาสันสกฤต มีข้อความหลายตอนกล่าวถึงการปฏิบัติโยคะของนเรนทราทิตย์และเหล่าโยคีที่อาศัยอยู่บนเขาพนมรุ้ง ที่สำคัญปรากฏคำว่า “ปศุปตะ” ดังความว่า
“sthuladripasupata pada parayanena เป็นที่พึ่งของปศุปตะ แห่งสถูลาทริ (พนมรุ้ง)”
นเรนทราทิตย์ ผู้สถาปนาปราสาทพนมรุ้ง ได้เลือกรับศรัทธาในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย แบบปศุปตะ อันเป็นนิกายที่เน้นการปฏิบัติโยคะและการบำเพ็ญพรตอย่างยิ่งยวด ดังความในจารึกว่า “เป็นเวลา ๗ เดือน พระองค์ผู้ทรงเสวยอาหารที่เป็นผลไม้และใบไม้ ปรากฏเสมอกับผู้บริโภคโภชนะและน้ำดื่ม อย่างมั่นคง เมื่อหมู่โยคีประพฤติตาม หมู่โยคีไม่สามารถที่จะอดอาหารเพราะความลำบาก...” และ “โดยการปฏิบัติการอดกลั้นถึง ๘ วัน รวมทั้งการกลั้นปัสสาวะ ฯลฯ บุคคลจึงจะถึงซึ่งความสนุกสนานในสวรรค์ชั้นฟ้าได้ทั้งหมด...” หลักฐานการบำเพ็ญพรตและวัตรปฏิบัติดังกล่าว ปรากฏอยู่ ณ ปราสาทพนมรุ้ง ทั้งที่เป็นจารึกและภาพแกะสลักประดับตามส่วนต่าง ๆ ของปราสาทพนมรุ้ง
จากการศึกษาในภาพรวมนั้น ทำให้ทราบว่าปราสาทพนมรุ้ง เป็นสถานที่สำหรับฝึกปฏิบัติ ทำสมาธิ จาริกแสวงบุญของเหล่าผู้ศรัทธาในองค์พระศิวะ มีลักษณะเป็นสถานศึกษาและที่พำนักสำหรับผู้ที่ต้องการบรรลุเป็นหนึ่งเดียวกับพระศิวะ ผู้ที่มีความปรารถนาและผู้ที่สวดมนต์อ้อนวอนเพื่อขอพรให้พระผู้เป็นเจ้าประทานพรเพื่อให้สมความปรารถนา โยคีบางตนเมื่อถึงวาระอันสมควรก็จะภิกขาจารไปในป่า เพื่อปลีกวิเวก รอคอยการละสังขาร เพื่อรวมเป็นหนึ่งกับพระมหาเทพหรือพระศิวะในที่สุด
เรียบเรียงโดย : นางสาวกมลวรรณ นิธินันทน์ นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เอกสารอ้างอิง :
กมลวรรณ นิธินันทน์. ภาพสลักสลักโยคี ณ ปราสาทพนมรุ้ง. บุรีรัมย์: อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กรมศิลปากร, ๒๕๖๓.
เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๑.
พิสิฐ เจริญวงศ์ และคณะ. ปราสาทพนมรุ้ง. พิมพ์ครั้งที่ ๖. บุรีรัมย์: สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. ปราสาทพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 3159 ครั้ง)