70 ปี 70 เรื่องเล่าจากจดหมายเหตุ : การคำนวณจันทรุปราคา
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันดวงจันทร์เต็มดวง หรือ ช่วงข้างขึ้น 14-15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อย ๆ จนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก คนไทยสมัยโบราณเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ราหูอมจันทร์"
สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 คืนวันลอยกระทง เป็นปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 15.02 – 20.56 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สังเกตได้จากหลายพื้นที่ทั่วโลก ในประเทศไทยจะเริ่มเห็นได้ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงพอดี มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของประเทศไทย บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17.44 น. เป็นต้นไป ช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลา 18.41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที และปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งถัดไป จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า ในวันที่ 8 กันยายน 2568
เอกสารจดหมายเหตุที่จะนำเสนอเป็นรายการที่ 9 คือ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงวัง รหัส ร.5 ว 30/1 เรื่อง คำนวนจันทรุปราคา [มี.ค. 103 - 2 ก.พ. 114] [81 แผ่น] ซึ่งเป็นเอกสารที่พระบรมวงศานุวงศ์และโหร มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ กรมหลวงเทวะวงษวโรปการ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม กรมหมื่นสมมติอมรพันธ์ พระองค์เจ้าวรวรรณากร พระยาโหราธิบดี พระมหาราชครูพิธี พระสิทธิไชยบดี พระชลยุทธโยธินทร์ หลวงสโมสรพลการ หลวงโลกทีป หลวงวิชิตสรสาตร ขุนจันทราภรณ์ ขุนโชติพรหมา ขุนญาณจักษ์ (จักร) ขุนญาณทิศ ขุนญาณโยค ขุนเทพจักษุ์ ขุนเทพยากรณ์ ขุนทิพจักษุ์ (จักร) ขุนทิพไพชยนต์ ขุนพิไชยฤกษ ขุนพิทักษเทวา ขุนพินิจอักษร ขุนโลกากร ขุนโลกไนยนา ขุนโลกเนตร ขุนโลกพยากรณ์ ขุนโลกพรหมา ขุนวิจารณภักดี ขุนศรีสาคร ขุนสี (ษีร) สารวัด ขุนสุริยาภรณ์ ขุนอินทจักร หมื่นนาเวศ หมื่นรุต หมื่นวิจารณ์ภักดี หมื่นศรี หมื่นสนิท นายสอนมหาดเล็ก นายคุย นายแดง นายโพ และนายเล็ก คำนวณการเกิดจันทรุปราคา ในช่วงระหว่าง ร.ศ. 103 – 114 (พ.ศ. 2427 – 2438) เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รายละเอียดในเนื้อหาแสดงการคำนวณจันทรุปราคาพร้อมภาพประกอบโดยละเอียด ข้อความที่ใช้บรรยายปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นคำศัพท์เฉพาะทางด้านดาราศาสตร์ ซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เช่น
“...พระเคราะห์จันทร์เดินปัตลงใต้เกี่ยวทางฉายาเคราะห์ในราศรีกันร่มราหู กำหนดจันทรุปราคาครั้งหนึ่ง ครั้นเวลายามหนึ่งกับ 35 นาที พระเคราะห์จันทร์จะเดินถึงขอบมณฑลฉายาเคราะห์ขอบมณฑลพระเคราะห์จันทรจะขาดค่างทิศอาคเนย์เปนนาทีแรกจับ แล้วพระเคราะห์จันทรจะเดินเข้าในมณฑลฉายาเคราะห์ไปตามลำดับนาทีคราธ จนถึงเวลา 5 ทุ่มกับ 11 นาที พระเคราะห์จันทรจะเข้าอยู่ในฉายาพระเคราะห์ 9 ส่วน เหลือส่วนหนึ่งค่างเหนือเปนเตมคราธ รัศมีแดงอ่อน ครันเวลา 2 ยามกับ 48 นาที พระจันทรจะออกจากมณฑลฉายาพระเคราะห์เตมบริบูรณเปนเวลาโมคบริสุทธิ ฉายาพระเคราะห์ออกค่างทิศประจิม...”
นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของเอกสารยังปรากฏว่ามีธรรมเนียมการสรงมุรธาภิเษกของพระมหากษัตริย์ ความว่า
“...ถึงกำหนดจันทรุปราคาครั้งหนึ่ง ชาวพนักงานพระเครื่องต้น จะได้ตั้งเครื่องพระมุรธาภิเศกสนาน ชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำกรด น้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จบรมนารถบพิตรพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นที่สรงชำระพระองค์ทรงเครื่องพระมุรธาภิเศกสนาน ตามจารีตแบบอย่างสมเด็จพระบรมมหาธรรมิกราชาธิราชสืบๆ มา เพื่อทรงพระเจริญพระราชศิริสวัสดิ์พิพัฒมงคล เมทนิยดลสกลสัตรูไกษย ขอเดชะ...”
หมายเหตุ : การสะกดชื่อเรื่องรายการ คำศัพท์เฉพาะ ชื่อบุคคล หรือการคัดลอกข้อความ จะคงตามที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุ
สืบค้นและเรียบเรียง : นางสาวดุษฎี ชัยเพชร นักจดหมายเหตุชำนาญการ และนางสาว พุธิตา ขำบุญลือ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
----------------------------------
อ้างอิงเพิ่มเติม
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน). ปรากฏารณ์จันทรุปราคาเต็มดวง. เข้าถึงได้จากhttps://www.narit.or.th/ สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2565.
(จำนวนผู้เข้าชม 7185 ครั้ง)