วันอาสาฬหบูชา
กิจกรรมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา และเวียนเทียนรอบพระอุโบถ สถูปเจดีย์พุทธสถานในวันอาสาฬหบูชาหรืออาสาฬหปูรณมีบูชา เป็นศาสนพิธีที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในประเทศไทยนั้นปรากฏหลักฐานการประกาศให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนา และการประกอบพิธีอาสาฬหบูชาในพุทธศักราช 2501
การประกาศให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาของประเทศไทย ได้ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุ ชุดกองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รหัสเอกสาร ศธ.15.12/11 เรื่อง พิธีอาสาฬหบูชา ใจความสำคัญว่า คณะสังฆมนตรีได้พิจารณาและออกประกาศสำนักสังฆนายกกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนา พร้อมทั้งกำหนดแบบแผนการประกอบพิธีอย่างเป็นทางการขึ้น เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 เนื่องจาก วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 อาสาฬหมาส เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นปฐมเทศนา และเป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ จึงเป็นวันที่บังเกิดรัตนะครบองค์สาม คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ นับว่าเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งในพระศาสนา สมควรกระทำการบูชาเพื่อเตือนใจพุทธศาสนิกชนทั้งหลายให้ซาบซึ้งในคุณพระรัตนตรัย สำนักสังฆนายกจึงได้ออกประกาศกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาไว้ ดังนี้
ก่อนถึงวันพิธีอาสาฬหบูชา ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ให้เจ้าอาวาสทุกวัดแจ้งแก่ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกาในวัดให้ทราบล่วงหน้าว่าวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันทำพิธีอาสาฬหบูชา เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ให้ภิกษุสามเณรตลอดจนศิษย์วัด คนวัด ช่วยกันทำความสะอาด ปัดกวาด ปูลาดเสนาสนะ จัดตั้งเครื่องสักการะ ถวายน้ำใช้น้ำฉัน ประดับธงธรรมจักรรอบพระอุโบสถเท่าที่สามารถจะจัดได้ เพื่อประกาศวันธรรมจักรให้ปรากฏแก่มหาชน เตือนใจให้ระลึกถึงสัจธรรมอันวิเศษที่ทรงแสดงไว้ในพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร
วันพิธีอาสาฬหบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 มีธรรมสวนะ เวลาค่ำให้ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถหรือพระเจดีย์ จุดธูป เทียน แล้วถือรวมกับดอกไม้ ยืนประนมมือสำรวมจิต พระสงฆ์ผู้เป็นประธานนำกล่าวคำบูชา จบแล้วทำประทักษิณ (เวียนขวา) สามรอบ จากนั้นภิกษุสามเณรเข้าในพระอุโบสถบูชาพระรัตนตรัย ทำวัตรค่ำ แล้วสวดพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร จบแล้วหยุดพักให้อุบาสก อุบาสิกา ทำวัตรค่ำ พระสังฆเถระแสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตร หากภิกษุสามเณรในวัดสามารถสวดสรภัญญะได้ ก็ให้สวดสรภัญญะเพื่อเจริญศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชน จากนั้นจึงให้พุทธศาสนิกชนเจริญภาวนามัยกุศล สวดมนต์และสนทนาธรรมตามเหมาะสม โดยดำเนินพิธีการให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 24 นาฬิกา เนื่องจากวันรุ่งขึ้นเป็นเทศกาลเข้าปุริมพรรษาของพุทธศาสนิกชนและเป็นวันประชุมอธิษฐานพรรษาของพระสงฆ์ (วันเข้าพรรษา)
ทั้งนี้ ภายหลังจากประกาศดังกล่าว พลเอก ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2501 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 เพื่อแก้ไขความในข้อ 8 กำหนดให้ชักและประดับธงชาติ ณ อาคารและยานพาหนะ ในวันอาสาฬหบูชา เพิ่มเติมเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้รับรองให้เป็นวันสำคัญของทางราชการ
พิธีอาสาฬหบูชานั้น คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวไทยยังคงปฏิบัติสืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามยุคสมัยและตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 แต่สิ่งหนึ่งที่ยังมั่นคงเสมอมาคือความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา
ผู้เรียบเรียง นางสาวณัฐณิชา พูลสุมล เจ้าพนักงานจดหมายเหตุปฏิบัติงาน
--------------------
อ้างอิง
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารจดหมายเหตุชุดกองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ศธ.15.12/11 เรื่อง พิธีอาสาฬหบูชา (14 - 24 ก.ค. 2501)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพเหตุการณ์ร่วมสมัย ฉ/จ/28769 เรื่อง พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา (2514)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพเหตุการณ์ร่วมสมัย ฉ/ร/223 เรื่อง พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา (2519)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพเหตุการณ์ร่วมสมัย ฉ/ร/5381 เรื่อง พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา (2535)
(จำนวนผู้เข้าชม 818 ครั้ง)