...

พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตอนที่ ๒

พุทธศักราช ๒๔๙๓ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จนิวัตพระนครเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ตามเสด็จด้วย และต่อมาเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ได้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม โดยสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธานในพระราชพิธี ในการนี้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เฉลิมพระปรมาภิไธยเป็น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอิสริยยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชโอรสธิดา ดังนี้
๑. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ
๓. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์
๔. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ต่อมา พุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชศรัทธาเสด็จทรงออกทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณีเป็นเวลา ๑๕ วัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการ ให้ทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์ ทรงเป็นประธานในการประชุมองคมนตรีและการประชุมพิจารณาพระราชบัญญัติต่าง ๆ ด้วยพระปรีชาสามารถ ด้วยเหตุนี้ในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา วันพุธที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ครั้นพุทธศักราช ๒๕๕๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เฉลิมพระปรมาภิไธยเป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทย และในฐานะคู่พระราชหฤทัยแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กล่าวคือ ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภาระทั้งหลายเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือประชาชน และการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง เห็นได้ชัดจากพระราชกรณียกิจที่เผยแพร่สู่สายตาประชาชนอยู่ในทุกวันนี้
อ้างอิง :
(๑) คณะกรรมการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕. จดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕. ปทุมธานี : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, ๒๕๕๘.
(๒) คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือจดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙. จดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙. กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๖๑.
(๓) คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ. จดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗. กรุงเทพฯ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๔๘.
ผู้สนใจสามารถสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุเพิ่มเติมได้ที่
หรือสนใจสั่งซื้อหนังสือออนไลน์ที่
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 2634 ครั้ง)


Messenger