...

นาค
องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
ตั๋วเมืองน่ารู้...ร่วมอนุรักษ์และสืบสานอักษรธรรมล้านนา
ตอน "นาค"
--- นาค ตามความหมายในพจนานุกรมล้านนา - ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง หมายถึง งูใหญ่มีหงอน, ช้าง, ผู้ไม่ทำบาป, คนผู้ประเสริฐ, ผู้กำลังจะเข้าพิธีบวช, ไม้กากะทิง (ต้นนาคพฤกษ์)
--- นาค เป็นสัตว์ในตำนานหรือนิทานปรัมปรา มีลักษณะเป็นงูใหญ่มีหงอน  เชื่อว่ามีอิทธิฤทธิ์บันดาลคุณหรือโทษต่อมนุษย์ได้ นาคจึงเป็นที่เคารพศรัทธาของคนบางกลุ่ม และมักปรากฎรูปลักษณ์ในส่วนประกอบของงานศิลปกรรมทั้งในพระพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์
--- บันไดนาคทางขึ้นวัดพระธาตุแช่แห้ง ในพงศาวดารเมืองน่าน ฉบับวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ระบุว่า สร้างขึ้นในพุทธศักราช ๒๓๔๙ สมัยเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๕๗ (ครองเมืองน่านพุทธศักราช ๒๓๒๙ - ๒๓๕๓) ความว่า "...ถึงจุฬสกราชได้ ๑๑๖๘ ตัว ปีรวายยี เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เม็งวันอังคารไทย เปิกใจ้ ยามเที่ยงวัน ท่านซ้ำมีอาชญาเกณฑ์เอากำลัง ๕๐๐ คน ก่อสร้างยังรูปมหานาคราชใหญ่ ๒ ตัว ยาว ๖๘ วา ตัวใหญ่แต่แผ่นดินขึ้นสูง ๔ ศอก ยกเงิกหัวพังพานขึ้นสูง ๑๐ ศอก ถาปะนาตั้งไว้ ๒ พ่างข้างหนทางที่ขึ้นเมือนมัสการพระมหาธาตุเจ้านั้นแล้ว... "
เอกสารอ้างอิง:
- กรมศิลปากร. นาค จากตำนานความเชื่อสู่ศรัทธาร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗), ๒๕๖๕.
- สุรศักดิ์ ศรีสำอาง และคณะ. เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. ๒๕๓๗.
- สำนักศิลปากรที่ ๗ น่าน. พงศาวดารเมืองน่าน ฉบับวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร. ๒๕๕๗.
- ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี. พจนานุกรมล้านนา - ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง. เชียงใหม่; โครงการสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ. ปรับปรุงครั้งที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๗.
- ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดน่าน โรงเรียนสตรีศรีน่าน. ตำนวนพระธาตุแช่แห้ง ฉบับพระสมุหพรหม และวรรณกรรมคร่าวฮ่ำ.เชียงใหม่: เจริญวัฒนาการพิมพ์, ๒๕๒๖.
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน #อักษรธรรมล้านนา #บันไดนาค #วัดพระธาตุแช่แห้ง

(จำนวนผู้เข้าชม 186 ครั้ง)


Messenger