...

วันพญาวัน
วันพญาวัน
---วันพญาวัน หรือวันพระญาวัน เป็นวันเถลิงศกเริ่มต้นจุลศักราชใหม่วันนี้เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนา ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่เวลาเช้าตรู่จะมีผู้คนนำเอาสำรับอาหารหวานคาวต่างๆ ไปทำบุญถวายพระตามวัด การถวายภัตตาหารหรือที่เรียกกันอย่างเมืองเหนือว่า ทานขันเข้า (อ่าน "ตานขันเข้า") นี้ บางคนก็จะทำบุญกันหลายสำรับ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ส่วนพระสงฆ์ก็จะรับการทานขันเข้าและทำพิธีกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับตามความประสงค์ของชาวบ้าน บางครั้งพระอาจต้องแยกย้ายกันทำพิธีเช่นว่านี้หลายแห่งก็ได้ นอกจากจะมีการทานขันเข้าหรือถวายสำรับอาหารที่วัดแล้ว บางคนอาจนำสำรับอาหารไปมอบให้แก่บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้ที่ตนเคารพนับถือโดยความเคารพอย่างการถวายให้แก่พระสงฆ์ด้วย ซึ่งการทำบุญเช่นนี้ เรียกว่า ทานขันเข้าตนเถ้าตนแก่
---หลังจากการทานขันเข้าและการฉันภัตตาหารแล้ว คือเป็นเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ นาฬิกา ทายกทายิกาทั้งหลายจะนำทุงหรือธงซึ่งได้เตรียมไว้ตั้งแต่วันก่อนนี้ ไปปักบนเจดีย์ทราย ทั้งนี้มีคติว่าการทานทุ่งนั้นมีอานิสงส์ สามารถช่วยให้ผู้ตายที่มีบาปหนักถึงตกนรกนั้นสามารถพ้นจากขุมนรกได้ โดยที่ชายของทุงจะได้พันตัวของผู้ตกนรกนั้นแล้วดึงพ้นจากขุมนรกขึ้นมา ในการทำบุญอุทิศเจดีย์ทรายและทุงนั้น "ปู่อาจารย์"หรือมัคนายกจะกล่าวนำศรัทธาประชาชนไหว้พระรับศีลแล้วอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์แบบย่อพอควรแก่เวลา จากนั้นปู่อาจารย์จะทำพิธีโอกาสเวนทานด้วยโวหารจนจบพิธีการ
---ในวันพระญาวันนี้ บางท่านอาจจะเตรียมไม้ง่ามไปถวายสำหรับค้ำต้นโพธิ์ ไม้ง่ามนี้จะมีกรวยดอกไม้ธูปเทียนและกระบอกบรรจุน้ำและทรายผูกติดกับไม้ง่ามไปด้วย การทานไม้ง่ามนี้ ถือคติว่าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการจะช่วยกันค้ำจุนพระศาสนาให้ยืนยาวต่อไป ในการไปวัดช่วงเช้าของวันพระญาวันนี้ นอกจากจะได้ ทานวาลุกเจดีย์ หรือทำบุญอุทิศเจดีย์ทรายและทานทุ่งตลอดจนทานไม้ง่ามแล้ว ก็จะมีการแสดงพระธรรมเทศนาต่อไปจนถึงเวลาถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์หลังจากนั้นทายกทายิกายังจะนำเอาน้ำเข้าหมิ่นส้มป้อย คือน้ำอบน้ำหอม ซึ่งปรุงด้วยฝักส้มป่อยและดอกไม้หอมที่ตากแห้งเช่น ดอกสารภีที่เตรียมมาด้วยนั้น สรงน้ำทั้งพระพุทธรูป สถูปเจดีย์ รวมทั้งสรงน้ำพระภิกษุเจ้าอาวาสด้วย และถือเป็นเสร็จพิธีในช่วงเช้าของวัน ส่วนในตอนบ่ายของวันพระญาวันนี้จะมีการไปดำหัวหรือไปคารวะผู้เฒ่าผู้แก่ บิดามารดา ญาติพี่น้องผู้อาวุโสหรือผู้มีบุญคุณหรือผู้ที่เคารพนับถือ เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษอันเนื่องจากที่อาจได้ประพฤติในสิ่งที่ไม่สมควรต่อท่านเหล่านั้น การดำหัวนี้อาจนับรวมถึงการดำหัวพระเจ้าคือการไปแสดงความคารวะต่อพระพุทธรูปที่สำคัญประจำเมืองเช่น พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาวในวัดเชียงมั่น พระพุทธสิหิงค์และพระเจ้าทองทิพย์ที่วัดพระสิงห์ พระเจ้าเก้าตื้อที่วัดสวนดอกเชียงใหม่ เป็นต้น นอกจากการดำหัวพระเจ้าแล้วก็อาจจะมีการดำหัวกู่ที่บรรจุพระอัฐิของบรรพบุรุษหรือเจ้านายที่ได้ทำคุณงามความดีไว้ต่อบ้านเมือง การดำหัวนี้ก็อาจกระทำแก่ครูบาอาจารย์ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลสำคัญในชุมชนนั้นๆเช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ซึ่งการไปดำหัวนี้ หากไปดำหัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของส่วนรวมหรือดำหัวผู้บังคับบัญชาแล้วก็อาจมีการจัดขบวนดำหัวเป็นการเอิกเกริกก็ได้
---เครื่องพิธีสำหรับดำหัวนั้นประกอบด้วยเครื่องเคารพซึ่งประกอบด้วยข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อยและของบริวารอื่นๆ เช่น มะม่วง มะปราง แตงกวา มะพร้าวอ่อนกล้วย อ้อย ขนม ข้าวด้ม หมากพลู เมี่ยง บุหรี่ หรือจะมีเงินทองใส่ไปด้วยก็ได้ หรืออาจจะมีเสื้อผ้า กางเกง ผ้าซิ่น ผ้าขนหนูหรือของที่ระลึกอื่นๆ จัดตกแต่งใส่พานหรือภาชนะให้เรียบร้อยสวยงาม หรือจะจัดอย่างพานบายศรี พุ่มดอกไม้ทำนองเดียวกันกับการแห่ครัวทาน (อ่าน "คัวตาน") ก็ได้ การไปดำหัวที่ไปเป็นขบวนนี้ มักจะไปในตอนเย็นหรือประมาณ ๑๖.๐๐-๑๗.๐๐นาฬิกา เมื่อขบวนดำหัวไปถึง ผู้เป็นหัวหน้าก็จะเอาพานข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน และน้ำเข้าหมิ้นส้มป่อยรวมทั้งของที่นำไปดำหัวนั้นไปมอบให้ด้วยความเคารพ และกล่าวขอขมาลาโทษเป็นทำนองว่า "วันนี้ เปนวันเดือนชีปีใหม่ หมู่ลูกหลานทั้งหลายได้มาขอขมาลาโทษและสมาคารวะพ่ออุ้ย แม่อุ้ย แม่นว่าพวกข้าเจ้าทั้งหลายได้ปากล้ำคำเหลือล่วงเกินด้วยประการใดๆ ก็ดีขอพ่ออุ้ยแม่อุ้ย (หรือบอกตำแหน่งผู้บังคับบัญชา) ได้ทื้อสมาลาโทษแก่ฝูงข้าเจ้าทั้งหลายด้วยเทอะ"
---ผู้รับการดำหัวจะรับประเคนของแล้วเอาผ้าขาวม้าหรือผ้าสไบพาดบ่าแล้วให้พร ซึ่งมักจะว่า
         "เอวังโหนตุ ดีแล อัชชะในวันนี้ ก็เป็นวันดีสรีอันประเสิฐล้ำเลิศกว่าวันทั้งหลาย บัดนี้รวิสังกรานต์ปีเก่าก็ล่วงพ้นไปแล้ว ปีใหม่แก้วก็มารอดมาเถิง ลูกหลานทั้งหลายก็บละเสียยังรีต บลีดเสียยังปาเวณี เจ้าทั้งหลายก็ยังได้น้อมนำมายังมธุบุปผาและสุคันโธทกะสัพพะวัตถุนานาทั้งหลาย มาขอสมาคารวะตนตัวผู้ข้า ว่าฉันนี้แท้ดีหลี
          แม่นว่าเจ้าทั้งหลายได้ปากล้ำคำเหลือ ขึ้นที่ต่ำ ย่ำที่สูงผิดด้วยกายกัมม์ วจีกัมม์ มโนกัมม์ ดั่งอั้นก็ดี ผู้ข้าก็จักอโหสิกัมม์ทื้อแก่สูเจ้าทั้งหลาย แม่นว่าสูเจ้าทั้งหลายจักไปสู่จตุ-ทิสสะอัฐทิสสะวันตกวันออกขอกใต้หนเหนือ ค้าขายวายล่องท่องเที่ยวบ้านเมือง แลอยู่บ้านชองหอเรือนดั่งอั้นก็ดี จุ่งหื้อชุ่มเนื้อเยนใจแล้วหื้อเป็นที่ปิยะมนามักรักจำเริญใจแก่หมู่คนและเทวดา แล้วจุ่งหื้อก้านกุ่งรุ่งเรือง ไพด้วยโภคะธนะธนังเข้าของเงินคำสัมปัตติทั้งหลาย แม่นจักกินก็อย่าหื้อได้ผลาญจักทานก็อย่าหื้อได้เสี้ยง หื้อมีอายุมั่นยืนยาวนั้นแท้ ดีหลีสัพพี ติ โย...อายุ วัณโณ สุขัง พลัง"
          ในระหว่างที่ทำพิธีและให้พรอยู่นั้น บรรดาผู้ฟังต่างก็จะพนมมือรับพร เมื่อผู้ให้พรกล่าวจบต่างก็จะยกมือจรดเหนือหัวพร้อมกับเปล่งเสียง "สาธุ" พร้อมๆ กัน เสร็จแล้วผู้รับการดำหัวก็จะยกเอาดอกไม้ธูปเทียนไปใส่ในพานใหญ่ที่เตรียมไว้ เอามีอจุ่มลงในน้ำเข้าหมิ้นส้มป่อยแล้วลูบศีรษะของตน เป็นกิริยาว่าได้ดำหัวแล้ว และนำน้ำเข้าหมิ่นส้มป่อยนั้นเทรวมไว้ในขัน ต่อจากนั้นอาจมีการสรงน้ำท่านที่เคารพหรืออาจสนทนากันสักครู่หนึ่ง ฝ่ายที่ไปคารวะก็จะลากลับ แต่หากเจ้าภาพจะเลี้ยงดูผู้ไปคารวะแล้ว การเลี้ยงก็จะเริ่มต้นนับแต่ตอนนี้เป็นต้นไป อนึ่ง การดำหัวนี้ไม่นิยมกระทำก่อนวันพระญาวันและควรกระทำให้เสร็จสิ้นหลังช่วงสงกรานต์ไม่เกินเจ็ดวัน
---ในวันนี้ ศรัทธาที่ไม่ไปวัดก็จะไปเตรียมสถานที่เพื่อทำบุญใจบ้านคือบริเวณที่ตั้งของเสาใจบ้านหรือสะดือบ้าน มีการจัดทำรั้วราชวัติ ประดับด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย เป็นต้น รอบสถานที่นั้น และจะเตรียมอาสน์สงฆ์ไว้ด้วย จากนั้นให้โยงฝ่ายร้วงคือด้ายสายสิญจน์จากเสาใจบ้านต่อ ๆ กันไปจนถึงทุกหลังคาเรือน จัดทำแตะไม้ไผ่สานขนาด ๙๐ x ๙๐ เซนติเมตรจำนวน ๙ แผง แล้วใช้ดินเหนียวหรือแป้งข้าวปั้นเป็นรูปสัตว์เช่น ช้าง ม้า เป็ด ไก่ หมู หมา ฯลฯ อย่างละ ๑๐๐ ตัว วางบนแตะนั้น พร้อมทั้งใส่เครื่องบูชาต่างๆ อันประกอบด้วย ข้าวอาหารคาวหวาน ผลไม้ต่างๆ กล้วย อ้อย หมากพลู เมี่ยง บุหรี่และให้ใช้ไม้ทำหอกดาบแหลนหลาวหน้าไม้ปืนธนูวางบนทั้งเก้านั้น เพื่อเตรียมทำพิธีส่งเคราะห์บ้านหรือพิธีส่งนพเคราะห์ทั้งเก้า
"วันพระญาวัน (๑) (วันเถลิงศก)." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 12. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 6231-6232.
 "ปีใหม่ (สงกรานต์)." สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 8. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 3834-3841.

(จำนวนผู้เข้าชม 2950 ครั้ง)


Messenger