...

วันวสันตวิษุวัต
21 มีนาคม 2566 “วันวสันตวิษุวัต” เวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน รวมถึงเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือ
“วสันตวิษุวัต” (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) ช่วงเวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน คำว่า “วิษุวัต” (Equinox) เป็นภาษาสันสกฤตหมายถึง “จุดราตรีเสมอภาค” จุดที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ส่งผลให้เป็นวันที่มีเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน วันดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อปี คือช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือ เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของซีกโลกเหนือ เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)
ในภาษาจีน คือ ชุนเฟิน 春分 chūnfēn ภาษาญี่ปุ่น คือ ชุนบุน しゅんぶん, shunbun และเกาหลีใต้ 춘분, chunbun
แต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนจากจุดใต้สุดขึ้นมาทางเหนือ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพอดี สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้น เวลาประมาณ 06:21 น. และตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิของประเทศทางซีกโลกเหนือและเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกใต้
ฤดูกาลเกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า แตกต่างกับฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว
ปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ คือ “วันครีษมายัน” (Summer Solstice) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
ซุ้มลีลาวดี หรืออุโมงค์ต้นลีลาววดี ด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน กำลังเริ่มผลิใบ ออกดอก หลังจากในฤดูหนาวได้ทิ้งใบเหลือเพียงกิ่งก้าน เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ที่กำลังมาถึง
เอกสารอ้างอิง
สงกรานต์ 3 วัน 13-15 เม.ย.เริ่มมีเมื่อใด ปีใหม่ไทยในอดีตเปลี่ยนไปมา ชาวบ้านตามตรวจดูวันเอง เข้าถึงได้โดย https://www.silpa-mag.com/history/article_31026
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เข้าถึงได้โดย https://www.facebook.com/photo?fbid=584756840361529&set=a.304334558403760
ว่าด้วยเรื่องของภาษา https://www.facebook.com/.../a.54837983.../5830437897068363/







(จำนวนผู้เข้าชม 13771 ครั้ง)


Messenger