...

วันพิพิธภัณฑ์ไทย
วันที่ ๑๙ กันยายน “วันพิพิธภัณฑ์ไทย”
มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กำหนดวันที่ ๑๙ กันยายนของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ 16/05/2538
.
 ประมาณ พ.ศ.๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งราชฤดี สำหรับเก็บและรวบรวมวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่ทรงได้มาก่อนขึ้นครองราชย์สมบัติ รวมทั้งบรรดาของขวัญ เครื่องราชบรรณาการจากต่างประเทศ ต่อมาไปตั้งแสดงในท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม และพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ (พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทในปัจจุบัน) และทรงเรียกว่า Royal Museum
.
 ในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอาคารหอคองคอเดีย (Concordia Hall) หรือศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน อันเป็นอาคารสถาปัตยกรรมตะวันตก บริเวณทางเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับเป็นสโมสรทหารมหาดเล็ก จัดเป็น “มิวเซียม” พิพิธภัณฑสถานโดยย้ายวัตถุที่จัดแสดงในพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปปัติ ซึ่งเดิมจัดแสดงในพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ใกล้ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคมในหมู่พระอภิเนาว์มาจัดแสดงในหอคองคอเดีย โดยแสดงสิ่งของต่างๆ ให้มหาชนนับแต่ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๒๑ พรรษา วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๑๗ วัตถุจัดแสดงประกอบด้วยสิ่งของที่เป็นสิ่งผลิตโดยชาวสยาม และของจากห้างร้านของชาวต่างประเทศ และเปิดให้เข้าชมเมื่อถึงคราวงานเฉลิมพระชนมพรรษาในแต่ละปี
.
 เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ย้ายพิพิธภัณฑสถานมาตั้งในพระที่นั่งพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ โดยใช้พื้นที่จัดแสดงในพระที่นั่ง ๓ องค์ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เรียกว่ามิวเซียมหลวงที่วังหน้าหรือ The Royal Museum at Wang Na
.
 พ.ศ.๒๔๔๕ ได้มีการจัดตั้ง “อยุธยาพิพิธภัณฑสถาน” ภายในพระราชวังจันทรเกษม นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกที่มีการจัดตั้งขึ้นในหัวเมือง ซึ่งส่งผลให้เกิดพิพิธภัณฑสถานอีกหลายแห่งในจังหวัดต่างๆ ในเวลาต่อมา
 พิพิธภัณฑ์วังหน้าเปลี่ยนไปเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๖๙ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับพระนครเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๙
.
 ภายหลังเกิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดต่างๆ ขึ้น จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องด้วยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ ทำให้พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครเปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รวมไปถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอื่นๆ ในภูมิภาคมีฐานะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
.
 พ.ศ.๒๕๔๕ กรมศิลปากรซึ่งสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนมาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม โดยแยกงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ออกจากงานโบราณคดี จัดตั้งเป็นสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีหน้าที่ดูแลกิจการพิพิธภัณฑสถานจัดตั้งโดยกรมศิลปากร สถาบันอื่นๆ และเอกชนด้วย
.
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. สมเด็จพระปิยมหาราช พระผู้พระราชทานกำเนิดพิพิธภัณฑสถานเพื่อประชา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๗. เข้าถึงได้โดย https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/447980


(จำนวนผู้เข้าชม 1383 ครั้ง)


Messenger