วันวิสาขบูชา
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔
ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ :
.
“วันวิสาขบูชา” เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งทั้งสามเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นตรงกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ชาวพุทธจึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า “วันวิสาขบูชา” ซึ่งย่อมาจาก “วิสาขปุรณมีบูชา” หมายถึง “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือนแปดสองหน ก็จะเลื่อนไปเป็นกลางเดือนเจ็ด อย่างเช่นในปี ๒๕๖๔ ที่มีเดือนแปดสองคน
ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
๓. มหาปรินิพพานสูตร (๑๖) พระพุทธองค์ทรงตรัสกับพระอานนท์ ความว่า
"ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
ดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา"
และพระพุทธองค์ได้กล่าวปัจฉิมวาจา หรือปัจฉิมโอวาท เป็นคำสอนครั้งสุดท้ายก่อนจะปรินิพพานว่า
“วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”
แปลว่า
“สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจง (ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
๓. มหาปรินิพพานสูตร (๑๖). เข้าถึงได้โดย https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=10&A=1888&Z=3915
ภาพจิตรกรรมพระวิหารวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ด้านทิศตะวันตก เป็นภาพปริพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกับเหล่าสาวกที่อยู่ในอากัปกิริยาโศกเศร้า
(จำนวนผู้เข้าชม 29870 ครั้ง)