พระธาตุแช่แห้ง
พระธาตุแช่แห้ง หลักฐานความสัมพันธ์กับสุโขทัย แต่ทำไมรูปแบบศิลปะเป็นแบบล้านนา?
.
พระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่เวียงภูเพียงแช่แห้ง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ห่างจากตัวเมืองน่านปัจจุบันไปทางทิศตะวันออกราว ๓ กิโลเมตร
.
หลักฐานเอกสารพื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิดกล่าวว่า พระธาตุแช่แห้งสร้างขึ้นราว พ.ศ. ๑๘๙๖ เพื่อบรรจุพระธาตุจำนวน ๗ องค์ และพระพิมพ์เงิน พระพิมพ์ทอง อย่างละ ๒๐ องค์ ซึ่งพระยาการเมือง เจ้าผู้ครองเมืองพลัว/ปัว (เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางมาก่อนเมืองน่านปัจจุบัน) ได้รับจากพระยาลิไท กษัตริย์สุโขทัย จากการไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัย
.
โดยรูปแบบของพระธาตุแช่แห้งเมื่อแรกสร้างนั้นไม่ชัดเจน ทราบเพียงว่าสูงจากพื้นดินราว ๑ วา
.
แต่ด้วยช่วงเวลาดังกล่าวเมืองน่านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสุโขทัย อีกทั้งงานศิลปกรรมอื่นๆ ทั้งประติมากรรมและสถาปัตยกรรมที่มีอายุใกล้เคียง/หลังพระธาตุแช่แห้งลงมาเล็กน้อย ล้วนสะท้อนอิทธิพลศิลปะสุโขทัยทั้งสิ้น ดังนั้นจึงมีการสันนิษฐานว่ารูปแบบของพระธาตุแช่แห้งเมื่อแรกสร้างอาจได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะสุโขทัยเช่นกัน โดยอาจมีรูปแบบเป็นเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์(?) หรืออาจมีรูปแบบคล้ายเจดีย์ช้างล้อม(?)ได้หรือไม่
.
ภายหลังเมืองน่านถูกผนวกเข้ากับล้านนาราว พ.ศ. ๑๙๙๓ - ๒๑๐๑ ก่อนจะอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า และขึ้นกับรัตนโกสินทร์ตามลำดับ
.
ซึ่งระยะตั้งแต่เมืองน่านถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาเป็นต้นมานี้เองก็ได้พบว่ามีการซ่อมสร้างองค์พระธาตุครั้งใหญ่ ตลอดจนปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมรูปแบบองค์เจดีย์หลายครั้งจนถึงปัจจุบัน
.
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าพระธาตุแช่แห้งสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่น่านกับสุโขทัยมีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น รวมถึงระยะแรกอาจมีรูปแบบเช่นเดียวกับเจดีย์ในศิลปะสุโขทัยก็เป็นได้
.
แต่ด้วยความที่พระธาตุแห่งนี้เป็นพระธาตุสำคัญจึงมีการปฏิสังขรณ์เรื่อยมา โดยที่การสร้างครอบทับหลายครั้งเกิดขึ้นในช่วงที่น่านอยู่ภายใต้การปกครองของล้านนา จึงทำให้รูปแบบของเจดีย์ในปัจจุบันเป็นเจดีย์แบบล้านนานั่นเอง
(จำนวนผู้เข้าชม 13104 ครั้ง)