มโหระทึกเส้นทางและผู้คนบนพื้นที่จังหวัดน่านในอดีต
มโหระทึกเส้นทางและผู้คนบนพื้นที่จังหวัดน่านในอดีต
,,,,,,,,,,กลองมโหระทึก (ในภาคเหนือมักเรียกว่า ฆ้องกบ, ฆ้องเขียด) เป็นสิ่งที่มีการสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นประวัติศาสตร์ (ราว ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว) เชื่อว่ามีจุดกำเนิดมาจากวัฒนธรรมดงเซิน (Dong Son) ซึ่งปัจจุบันอยู่บริเวณจังหวัด Thanh Hoa ในประเทศเวียดนาม พบในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ พม่า ไทย เวียดนาม ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ
,,,,,,,,,,ปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่ากลองมโหระทึกผลิตขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ดังนี้
๑. แสดงฐานะความมั่งคั่ง
๒. ใช้ประกอบพิธีกรรมความตาย
๓. ใช้ตีเป็นสัญญาณสงคราม
๔. ใช้ประกอบพิธีขอฝน
๕. ใช้ตีเพื่อบำบัดโรคทางไสยศาสตร์
กลองมโหระทึกที่พบในพื้นที่จังหวัดน่าน
,,,,,,,,,,ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙ เวลาราว ๑๒.๐๐ น. พบกลองมโหระทึกจำนวน ๒ ใบ บริเวณเนินดินซึ่งเป็นป่าช้าเก่าที่บ้านบ่อหลวง ริมถนนหมายเลข ๑๐๘๑ ใกล้หลักกิโลเมตรที่ ๗๗ ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ร่วมกับโบราณวัตถุอื่นๆ ได้แก่ แหวนทองคำ แหวนสำริด แผ่นทองคำ ชิ้นส่วนกระดูกขนาดเล็ก ฯลฯ โดยผู้พบคือ เด็กหญิงนงเยาว์ กุลสุทธิ และเด็กหญิงนพมาศ ปรังกิจ
ต่อมานายชัยนันท์ บุษยรัตน์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขณะนั้น จึงได้ประสานงานนำมาเก็บรักษาและจัดแสดง
กลองมโหระทึกที่พบในประเทศไทย
,,,,,,,,,,ไม่เพียงแต่จังหวัดน่าน กลองมโหระทึกยังพบในอีกหลายต่อหลายพื้นที่ซึ่งหากนับเฉพาะชิ้นที่สามารถระบุตำแหน่งที่พบได้อย่างชัดเจนมีมากกว่า ๔๐ ใบ แต่หากนับรวมชิ้นที่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่พบได้ชัดเจนก็จะมีถึงราว ๖๐ ใบเลยทีเดียว ทั้งนี้ นอกจากประเทศไทยแล้วยังพบกลองมโหระทึกที่เวียดนาม (เชื่อว่าเป็นเจ้าของวัฒนธรรม) ลาว จีน พม่า อินโดนีเซีย และติมอร์ เป็นต้น ทำให้อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ถึงการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม และอาจแสดงถึงการติดต่อของผู้คนก็เป็นได้
ย้อนมองเมืองน่าน : ชุมทางการค้าแห่งล้านนาตะวันออก (?)
,,,,,,,,,,ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์เราไม่อาจยืนยันชัดเจนว่าผู้คนมีการติดต่อกันด้วยเส้นทางใดบ้าง แต่หากพิจารณาเส้นทางในสมัยหลังลงมาได้มีผู้กล่าวว่าเมืองน่านน่าจะเป็นชุมทางสำคัญด้านล้านนาตะวันออกที่เชื่อมโยงสินค้าประเภทของป่าจากตอนในของแผ่นดิน เช่น หลวงพระบาง ไปสู่สุโขทัยก่อนที่จะผ่านเมืองตากออกสู่เมืองท่าอย่างเมาะตะมะในพื้นที่ประเทศพม่าในปัจจุบัน
มองเส้นทางการค้าแล้วย้อนมองการกระจายตัวของกลองมโหระทึก
,,,,,,,,,,หากเรากลับไปมองการกระจายตัวของกลองมโหระทึกซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่มีอายุในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์-ต้นสมัยประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคเหนือตอนล่างจะพบว่ามีการพบกลองมโหระทึกทั้งที่น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก สอดรับกันดีกับเส้นทางการค้าสมัยโบราณดังที่กล่าวไปข้างต้น
,,,,,,,,,,ดังนั้น กลองมโหระทึกอาจเป็นหนึ่งในวัตถุทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัดน่านมีผู้คนอาศัยอยู่มาแล้วนับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อีกทั้งคงจะมีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนและบ้านเมืองโดยรอบ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม คติความเชื่อ ตลอดจนสินค้า และงานศิลปกรรมในเวลาต่อมา นำไปสู่พัฒนาการของชุมชนสู่บ้านเมืองในเวลาต่อมา
*ข้อมูลโดยละเอียดบางส่วนอยู่ในแต่ละภาพครับ*
_________________________
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. กองโบราณคดี. ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กรณีศึกษา กลองมโหระทึก. กรุงเทพฯ: แกรนด์พ้อยท์, ๒๕๖๒.
กรมศิลปากร. จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๗.
กรมศิลปากร. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. กลองมโหระทึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: อาทิตย์ โพรดักส์ กรุ๊ป, ๒๕๔๖.
ชวิศา ศิริ. "การค้าของอาณาจักรล้านนา ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒." ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐.
ธีระวัฒน์ แสนคำ. "เส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสุโขทัยกับกลุ่มบ้านเมืองในลุ่มน้ำโขง." ใน สุโขทัยกับอาเซียน : มองปัจจุบันผ่านอดีตจากมิติประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี. ปทุมธานี: คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
โยซิยูกิ มาซูฮารา. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรลาวล้านช้าง : สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ จากรัฐการค้าภายในภาคพื้นทวีปไปสู่รัฐกึ่งเมืองท่า. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๖.
วราภรณ์ เรืองศรี. คาราวานพ่อค้าทางไกล : การก่อเกิดรัญสมัยใหม่ในภาคเหนือของไทยและดินแดนตอนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. เชียงใหม่: ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๕๗.
ศรีศักร วัลลิโภดม. สยามประเทศ ภูมิหลังของประเทศไทยตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาราชอาณาจักรสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๙.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ ถึง พ.ศ. ๒๐๐๐. กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งเรืองการพิมพ์, ๒๕๓๕.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. มโหระทึก หรือกลองทอง. กลองกบ ใช้ตีขอน้ำฟ้าน้ำฝน ตามประเพณีดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้วของอุษาคเนย์. มติชนออนไลน์, เข้าถึงเมื่อ ๕ เม.ย. ๖๓ เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_348099
สุจิตต์ วงษ์เทศ. ขวัญ หน้ากลองมโหระทึก. มติชนออนไลน์เข้าถึงเมื่อ ๕ เม.ย. ๖๓ เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/ente.../arts-culture/news_1390415
(จำนวนผู้เข้าชม 1410 ครั้ง)