...

โบราณวัตถุบริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์
องค์ความรู้ทางวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
เรื่อง "โบราณวัตถุบริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์"
ประวัติความเป็นมาของโบราณวัตถุ
--- ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ กรมชลประทานได้กำหนดจะทำการปิดกั้นกระแสน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งจะทำให้โบราณสถานจำนวน ๑๘ แห่ง ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวถูกน้ำท่วม กรมศิลปากร โดยหน่วยศิลปากรที่ ๓ จังหวัดสุโขทัย (ในขณะนั้น) จึงได้ดำเนินการเข้าสำรวจและขุดค้น ตั้งแต่ ในเดือนธันวาคม ๒๕๑๓ - กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ เพื่อศึกษาและรวบรวมโบราณวัตถุ
--- วัดที่ได้มีการสำรวจและขุดค้นบริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์  จำนวน ๑๘ แห่ง ได้แก่ วัดห้วยเลิศ วัดชัยศรีห้วยต้า (ใต้) วัดห้วยต้าเหนือ วัดปากลี วัดหาดลั้ง วัดท่าแฝก วัดท่าปลา วัดหาดไก่ต้อย วัดตีนดอย วัดนาโห้ง วัดจริม วัดเสกษนาราม (วัดนาต้นลาน) วัดปากกั้ง วัดห้วยอ้อย วัดน้ำปิง วัดหาดสองแคว วัดหาดหล้าใต้ และวัดหาดหล้าเหนือ
--- ในอดีตเมืองท่าปลาขึ้นอยู่กับเมืองน่าน ในสมัยที่เมืองน่านยังมีเจ้าเมืองเป็นผู้ครองนครน่าน โดยรวมแขวงศีรษะเกษกับแขวงท่าปลาเข้าด้วยกันเป็นเขตน่าน ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๖๖ จึงแยกมาขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์
--- อำเภอท่าปลา หรือ เมืองท่าปลา สันนิษฐานว่าคำว่า “ท่าปลา” คงมาจากคำว่า “ทัพป่า” หมายความว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งทัพในการออกศึกสงครามหรืออาจหมายถึง ท่าน้ำแถบนี้ท้องน้ำเต็มไปด้วยหินที่ใสเหมือนดวงตาหรือแก้วตาปลา ซึ่งถือกันว่าเป็นหินศักดิ์สิทธิ์ คำว่า ท่าปลา จึงอาจเพี้ยนมาจากคำว่า “ตาปลา”
ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองน่านและเมืองท่าปลาในอดีต
--- พ.ศ. ๒๓๒๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงแต่งตั้งเจ้าหนานนันทปโชติ ขึ้นเป็น เจ้ามงคลวรยศให้มาครองเมืองน่าน ในขณะนั้นเมืองน่าน รกร้างว่างเปล่าเนื่องจากถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลากว่า ๒๓ ปี จากการถูกกองทัพพม่าจากเมืองเชียงแสนกวาดต้อนผู้คน  เจ้ามงคลวรยศ (พ.ศ. ๒๓๒๖ - ๒๓๒๙) จึงได้รั้งเมืองอยู่ที่เมืองท่าปลา (อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์)
--- พ.ศ. ๒๓๕๑ สมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ (หลานเจ้ามงคลวรยศ) เจ้าเมืองน่าน เสด็จลงไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในท้องที่อำเภอท่าปลา คือ เมื่อท่านเสด็จมาถึงบ้านท่าแฝก (หมู่ที่ ๖, ๗ ตำบลท่าแฝก) ท่านทราบข่าวว่ามีสามเณร ๒ รูป ได้แก่ สามเณรอริยะ กับสามเณรปัญญา ได้พบไหจีนบรรจุพระเกศาธาตุและของมีค่าหลายรายการ ท่านจึงนำพระเกศาธาตุและของมีค่าเหล่านี้ไปถวายรัชกาล ที่ ๑ ทำให้เจ้าเมืองน่านได้รับความดีความชอบเป็นอย่างมาก
โบราณวัตถุที่สำรวจและขุดพบบริเวณวัดที่อยู่เหนือเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ เครื่องประดับ และเงินตรา ซึ่งถูกบรรจุไว้ในองค์เจดีย์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปบุเงิน พระพุทธรูปสำริด และพระพุทธรูปไม้อีกจำนวนหนึ่ง
ด้วยความสัมพันธ์ในอดีตดังกล่าวมาแล้วข้างต้นระหว่างเมืองท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ และเมืองน่าน
ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน จึงได้นำโบราณวัตถุบางส่วนที่พบจากการสำรวจและขุดค้นบริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดแสดงให้เข้าชม ณ ห้องนิทรรศการชั่วคราวสมัยประวัติศาสตร์ ชั้นล่างของอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
เอกสารอ้างอิง
--- คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาของจังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๔๔.
--- หน่วยศิลปากรที่ ๓ สุโขทัย. รายงานการสำรวจและขุดค้นโบราณวัตถุสถานเหนือเขื่อนสิริกิติ์. ๒๕๑๔.
















































(จำนวนผู้เข้าชม 2238 ครั้ง)


Messenger