...

แหล่งเตาบ่อสวก ตอนที่ ๒ เอกลักษณ์เครื่องปั้นดินเผาเมืองน่าน
องค์ความรู้ทางวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
เรื่อง "แหล่งเตาบ่อสวก ตอนที่ ๒ เอกลักษณ์เครื่องปั้นดินเผาเมืองน่าน" (ตอนจบ)
 เตาบ่อสวก มีลักษณะเป็นเตาเผาห้องเดี่ยว ผนังเตาก่อด้วยดิน ชนิดระบายความร้อนผ่านเฉียงขึ้น ผลิตเครื่องถ้วยประเภทชาม ไห ครก กระปุก กุณฑี น้ำต้น พาน ผางประทีป ตะเกียง ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน มีทั้งลักษณะเนื้อดินธรรมดาไม่เคลือบ (earthen wares) และเนื้อแกร่ง (stone wares) ภาชนะแบบเคลือบมักมีสีขาวนวล สีเขียวนวล สีเขียวแกมน้ำตาล สีดำ บางชิ้นเขียนลายใต้เคลือบ
 “ไหลายน่าน” เป็นภาชนะที่มีลักษณะลวดลายโดดเด่นซึ่งเอกลักษณ์เครื่องปั้นดินเผาเมืองน่าน มีลักษณะเป็นไหทรงสูง ไหล่กว้าง ปากบานผายออกคล้ายปากแตร ขอบปากชั้นเดียว ก้นแคบเรียบ ตัวไหเคลือบสีเขียวนวล และสีน้ำนม สีเขียวแกมน้ำตาล มีการตกแต่งลวดลายตรงไหล่และตรงรอยต่อของไหล่กับคอไห ลักษณะลวดลายของแหล่งเตาเมืองน่านบ้านบ่อสวก มีความโดดเด่นเฉพาะตัวซึ่งยังไม่พบในแหล่งเตาอื่นๆ คือ ลายคล้ายนกฮูกหรือนกเค้าแมวในกรอบกลีบบัวปลายตัดคล้ายอินทรธนู หรือตุงกระด้างปั้นแปะประดับโดยรอบไหล่ไหคล้ายกรองศอ และมีแถบลายปั้นแปะเป็นเม็ดกลมเล็กๆ ลวดลายปั้นแปะคล้ายลายก้านขดเล็กๆ และลายปั้นแปะเป็นดอกไม้เล็กๆ อยู่ที่ส่วนล่างของคอไห (เหนือแถบลายอินทรธนู) และเฉพาะลวดลายในกรอบกลีบบัว มักเคลือบสีเขียวเข้ม สีเขียวแกมน้ำตาลซึ่งเป็นสีที่เข้มกว่าสีเคลือบพื้นของไห
เครื่องปั้นดินเผาที่พบจากแหล่งเตาบ่อสวก
ส่วนใหญ่เป็นเครื่องถ้วยเนื้อแกร่ง (Stoneware) แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆตามรูปทรง ได้แก่
๑. ชามและจาน มีทั้งชนิดเคลือบสีเดียว เคลือบสองสี และเขียนลายใต้เคลือบ
๒. ครก
๓. ไห มีสองแบบ คือ ไหแบบธรรมดาที่มีขอบปากชั้นเดียว และไหแบบพิเศษมีขอบปากสองชั้น
๔. พระพิมพ์ดินเผา (พระบ่อสวก)
๕. เครื่องปั้นดินเผารูปแบบอื่นๆ ได้แก่ พาน คนโทน้ำหรือน้ำต้นมีพวย ขวด ตะเกียง ตุ้มถ่วงน้ำ (ถ่วงแห) สากดินเผา กระเบื้องดินเผา ตุ๊กตารูปคน และตุ๊กตารูปสัตว์
จากการสำรวจแหล่งเตาเมืองน่านบ้านบ่อสวก เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เดือนกรกฎาคมและเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ พบเศษเครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยล้านนาหลายชิ้นกระจายอยู่ทั่วไปบนผิวดิน ได้แก่ 
(๑) เศษเครื่องถ้วยลายครามจีน มีตัวอักษรจีน สมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. ๒๐๙๕ - ๒๑๖๙)
(๒) เศษเครื่องถ้วยลายครามจีน มีรอยจารอักษรไทยล้านนา
(๓) เครื่องถ้วยเวียงกาหลง
 วิทยาการการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีลักษณะพิเศษของแหล่งเตาบ่อสวก คือ การใช้กล่องดินหรือจ๊อ (saggars) ครอบภาชนะป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายขณะเผา นับเป็นวิทยาการก้าวหน้าในสมัยนั้น ซึ่งไม่ปรากฏในแหล่งเตาเผาอื่นๆอย่างสุโขทัย ศรีสัชนาลัย
กิจกรรมการผลิตเครื่องปั้นดินเผาสมัยโบราณของเมืองน่านจัดอยู่ในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะได้พบเครื่องถ้วยเมืองน่านในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา และบริเวณเทือกเขาถนนธงชัยในเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดตาก ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงเส้นทางการค้าของเครื่องถ้วยเมืองน่านไปสู่ดินแดนห่างไกลทางอ่าวมะตะบัน และมหาสมุทรอินเดีย
หลักฐานที่ได้จากการขุดค้น เช่น จารึกบนกล่องดิน ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง และเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาเวียงกาหลง ทำให้สันนิษฐานว่าช่วงเวลาการผลิตเครื่องดินเผาเมืองน่านน่าจะมีการผลิตแพร่หลายในช่วงประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ และอาจจะลดปริมาณการผลิตลงในช่วงที่เกิดสงครามระหว่างล้านนากับพม่า
เอกสารอ้างอิง    
- สายันต์ ไพรชาญจิตร์. โบราณคดีชุมชนที่เมืองน่าน. กรุงเทพฯ : โครงการโบราณคดีชุมชน, ๒๕๔๓.
- สำนักศิลปากรที่ ๗ น่าน. คู่มือประกอบกิจกรรมสร้างเครือข่ายเพื่อบริหารจัดการเตาเผาโบราณตำบลบ่อสวก, ๒๕๕๕.
ภาพประกอบ/ภายลายเส้น
- สายันต์ ไพรชาญจิตร์. โบราณคดีชุมชนที่เมืองน่าน. กรุงเทพฯ : โครงการโบราณคดีชุมชน, ๒๕๔๓.
- องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน. รายงานการขุดค้นแหล่งเตาดงปู่ฮ่อ บ้านบ่อสวก ต.สวก อ.เมือง จ.น่าน, ๒๕๔๖.
ปัจจุบันโบราณวัตถุจากแหล่งเตาบ่อสวก ได้มีการจัดแสดงให้เข้าชม
ณ ห้องนิทรรศการชั่วคราวสมัยประวัติศาสตร์ ชั้นล่างของอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน สามารถมาเยี่ยมชมได้นะคะ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน
เปิดให้บริการทุกวันพุธ - อาทิตย์
เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
ค่าธรรมเนียมเข้าชม : ชาวไทย ๒๐ บาท , ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท, นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ พระภิกษุ และนักบวชทางศาสนา เข้าชมฟรี
สอบถามเพิ่มเติม โทร. ๐๕๔ - ๗๗๒ ๗๗๗














































(จำนวนผู้เข้าชม 3333 ครั้ง)


Messenger