วันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา
มาฆบูชา ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือเดือน ๓ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ถ้าปีใดมีเดือนอธิกาส คือ มีเดือน ๘ สองหน จะเลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน ๓ หลัง (วันเพ็ญเดือน ๔)
ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมกันถึง ๔ ประการ จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" เหตุการณ์นั้น คือ
๑.ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
๒.พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้มีการนัดหมาย
๓.พระภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญษ ๖
๔.พระภิกษุทั้งหมดเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ที่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
พระพุทธเจ้าได้แสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่ที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ วิธีการ ๖ ดังนี้
- หลักการ ๓ คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง
-อุดมการณ์๔ คือ ความอดทน ความไม่เบียดเบียน ความสงบ และนิพพาน
-วิธีการ๖ คือ การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้ายใคร สำรวมในปาติโมกข์ รู้จักประมาณ อยู่ในสถานที่ที่สงัด และฝึกหัดจิตใจให้สงบ
ภาพ: ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านทิศเหนือ ภายในพระวิหารวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางมารวิชัยในซุ้มเรือนแก้ว ขนาบข้างด้วยพระสาวกด้านละสององค์
(จำนวนผู้เข้าชม 4810 ครั้ง)