ชิต เหรียญประชา (พ.ศ. 2451 – 2537)
ชิต เหรียญประชา เกิดเมื่อวันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2451 ที่จังหวัดนครปฐม เริ่มเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง แต่เมื่อเหลือเวลาอีก 1 ปี ก่อนจะจบการศึกษา ชิตกลับลาออก เนื่องจากมองไม่เห็นอนาคตในอาชีพศิลปิน ต่อมาชิตได้ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ด้วยเหตุที่ชิตเป็นผู้มีความรู้ทางด้านศิลปะ จึงย้ายไปช่วยงานที่กรมทหารช่าง และสอบบรรจุเป็นนายสิบ แต่เนื่องจากเงินเดือนที่ได้ไม่พอใช้ในครอบครัว จึงลาออกมาเป็นช่างอิสระ รับจ้างเขียนลายรดน้ำ ปิดทองโต๊ะหมู่บูชา พ.ศ. 2473 ชิตทำงานเป็นช่างศิลป์ให้กับสำนักงานศิลปาคาร ในการออกแบบแกะบล็อกและตราเครื่องหมายต่างๆ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชิตรับงานผลิตตราขององค์การสงเคราะห์ประชากรสงคราม ทำให้มีทุนเพียงพอสำหรับการเปิดร้าน ช.ช่าง รับงานแกะสลักทุกชนิด โดยเมื่อว่างจากการรับงานที่ร้าน ชิตได้ทุ่มเทเวลาในการสร้างสรรค์ผลงานแกะสลักในแบบฉบับของตนเอง ในปี 2493 ชิตและเพื่อนศิลปินร่วมกันก่อตั้งจิตรกรปฏิมากรสมาคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งศิลปะอันเป็นวัฒนธรรมของชาติ และรวบรวมศิลปินให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ชิตได้รับการยกย่องในแวดวงศิลปะว่ามีความเป็นเลิศในด้านการแกะสลักไม้และงาช้าง และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการนำเอารูปแบบของศิลปะไทยประเพณีมาผสมผสานเข้ากับรูปแบบและวิธีการของงานศิลปะสมัยใหม่ โดยได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากพระพุทธรูปแบบสุโขทัย ซึ่งมีสัดส่วนและท่าทางการแสดงออกที่มีความอ่อนช้อยงดงาม ชิตได้กล่าวถึงการสร้างสรรค์ผลงานของตนไว้ว่า “ผมทำตามอารมณ์... ต้องการให้เส้นที่ปรากฏออกมาในแบบไทยๆ แต่ form เป็นสากล”
ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2494) ผลงาน “รำมะนา” ของชิตได้รับรางวัลเกียรตินิยมอับดับ 1 เหรียญทอง สาขาประติมากรรม ผลงานแกะสลักจากไม้มะฮอกกานี เป็นรูปผู้ชายกำลังนั่งเล่นกลองขึงหนังหน้าเดียวที่เรียกว่า รำมะนา มีการลดทอนรายละเอียดของกล้ามเนื้อ คงไว้ซึ่งรูปร่างที่มีลักษณะอ่อนช้อย โดยออกแบบใบหน้า ท่าทาง และเค้าโครงของงานประติมากรรม ให้แสดงเส้นสายของร่างกายที่ลื่นไหลเป็นวงโค้งล้อรับกันกับเครื่องดนตรี เผยให้เห็นถึงลีลาท่าทางของนักดนตรีที่กำลังรัวกลองเร้าอารมณ์อย่างสนุกสนาน ดูได้จากนิ้วมือ นิ้วเท้า และการโยกตัวตามจังหวะอย่างพลิ้วไหว ผลงานชิ้นนี้จึงมีความประณีตสูงและสื่อสารอารมณ์ถึงผู้ชมได้เป็นอย่างดี
จากการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 – 4 (พ.ศ. 2492 – 2496) ชิตได้รับรางวัลเกียรตินิยมอับดับ 1 เหรียญทอง 2 ครั้ง และรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน 2 ครั้ง จึงได้รับเกียรติยกย่องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาประติมากรรม ในปี 2496
ถึงแม้ว่าชิตจะเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมแล้ว ก็ยังคงส่งผลงานเข้าร่วมแสดงอีกหลายครั้ง ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 10 (พ.ศ. 2502) ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวถึงผลงานของชิตไว้ว่า “…รูปสลักไม้ หญิงไทย ของ ชิต เหรียญประชา ซึ่งศิลปินผู้นี้ได้ตัดส่วนหยุมหยิมของทรงรูปนอกออกเสีย ก็เพื่อจะให้เกิดความเหมาะสมขึ้นในลักษณะพิเศษของศิลปตามแบบประเพณีของเรา ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นศิลปินผู้มีฝีมือช่ำชองอยู่ตลอดมา…”
พ.ศ. 2530 ชิตได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาประติมากรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ชิตถึงแก่กรรมด้วยโรคภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2537 สิริอายุ 86 ปี
ที่มา
1. หนังสือ “5 ทศวรรษ ศิลปกรรมแห่งชาติ 2492 – 2541” โดย หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
2. หนังสือ “ชิต เหรียญประชา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป (ประติมากรรม) พ.ศ. 2530” โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
3. หนังสือ “บทความ ข้อเขียน และงานศิลปกรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” โดย หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 5527 ครั้ง)