พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษกจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้านชาติพันธุ์วิทยาของประเทศไทย (1)
ประวัติและความเป็นมาของโครงการ
เนื่องในวโรกาสมหามงคล พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าภูมิพลอดุลเดช ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี เมื่อพุทธศักราช 2539 กรมศิลปากรได้ขอพระบรมราชานุญาตนำโครงการจัดสร้าง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาติพันธุ์วิทยา ณ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เข้าร่วมเฉลิมฉลอง และอัญเชิญนามพระราชพิธีมาเป็นชื่อหน่วยงานใหม่นี้ ว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก”
โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ด้านชาติพันธุ์วิทยากำเนิดจากนโยบายของกรมศิลปากร ภายใต้แนวคิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พุทธศักราช 2504 มุ่งเน้นการกระจายความเจริญจากกลางใจเมืองออกสู่ชานเมือง และการเติมเต็มความสมบูรณ์ของการจัดแสดงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมวิทยา ในปี 2517 กรมศิลปากรจึงวางแผนพัฒนาองค์กรส่วนราชการให้กระจายออกสู่ปริมณฑล ด้วยการขอประโยชน์ที่ดินราชพัสดุ จำนวน 305 ไร่ จากกระทรวงการคลัง เพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้านชาติพันธุ์วิทยา
ในเวลาต่อมา กรมศิลปากรได้ปรับพื้นที่โครงการโดยผนวกพิพิธภัณฑสถานเฉพาะด้านสาขาอื่นๆ และอาคารปฏิบัติการในการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของหน่วยงานที่โยกย้ายออกจากกรุงเทพมหานคร มารวมไว้ด้วยกัน เพื่อเตรียมจัดตั้งพื้นที่ทั้งโครงการให้เป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่๙ แหล่งเรียนรู้สหสาขาวิชาที่ครอบคลุมความรู้เรื่องเกี่ยวกับคนไทยทั้งชาติพันธุ์วิทยา วัฒนธรรม ศิลปะ และธรรมชาติวิทยา ที่สามารถเอื้อประโยชน์การเรียนรู้แก่สังคมได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นเสมือนประตูเข้าสู่ภูมิภาค ให้ความรู้แก่อาคันตุกะเป็นบทนำก่อนเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆของประเทศ
ปัจจุบันภายในพื้นที่โครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก จึงมีพิพิธภัณฑสถานสาขาต่างๆ และอาคารปฏิบัติการอนุรักษ์ อยู่ร่วมกันหลายหน่วยงาน ได้แก่
กระทรวงวัฒนธรรม;
1.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้านชาติพันธุ์วิทยา)
2.ศูนย์ข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อาคารปฏิบัติการคลังกลาง (Visible Storage) สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
3.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ อาคารปฏิบัติการซ่อมสงวนโบราณวัตถุ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
4.หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อาคารเก็บรักษาเอกสารและให้บริการความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
5.หออัครศิลปิน อาคารจัดแสดงนิทรรศการพระจริยาวัตรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ด้านศิลปะและการดนตรี รวมถึงรื่องราวของศิลปินแห่งชาติทุกท่าน กรมวัฒนธรรมแห่งชาติ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม;
1. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ อาคารจัดแสดงด้านธรณีวิทยาและบรรพชีวินของไทย (ไดโนเสาร์)
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจจัดสร้างอาคารปฏิบัติการคลังกลางในปี 2548 คณะทำงานของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก จึงดำเนินโครงการระยะต่อไป คือ แผนงานจัดสร้างกลุ่มอาคารและพื้นที่จัดแสดงกลางแจ้งด้านชาติพันธุ์วิทยา ซึ่ง ณ ปัจจุบันได้กำหนดให้เริ่มเปิดให้บริการได้ราวปี 2557 เป็นต้นไป
(จำนวนผู้เข้าชม 4094 ครั้ง)