...

แผ่นทองคำสลักดุนรูปกิเลน

         แผ่นทองคำสลักดุนรูปกิเลน  

         พุทธศตวรรษที่ ๒๑

         ได้จากวัดเจดีย์สูง ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๗

         ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องล้านนา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         แผ่นทองคำกลม ดุนรูปกิเลนยืนเหนือผิวน้ำ ท่ามกลางก้อนเมฆ ด้านบนเจาะรูเล็ก ๆ หนึ่งรู ส่วนขอบชำรุดไปบางส่วน

         กิเลน หรือ ฉิหลิน (ในภาษาจีนแต้จิ๋ว) เป็นสัตว์วิเศษ ๑ ใน ๔ (ประกอบด้วย มังกร กิเลน หงส์ และเต่า) ซึ่งสามารถขจัดสิ่งชั่วร้ายและภูตผีปีศาจได้ ตามความเชื่อในวัฒนธรรมจีน กิเลนเกิดขึ้นจากธาตุทั้งห้าคือดิน น้ำ ไฟ ไม้และโลหะ สามารถเดินบนน้ำและในอากาศได้ อีกทั้งมีอายุอยู่ได้นับพันปี จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณงามความดีและความมีอายุยืน* ชาวจีนนิยมทำยันต์รูปกิเลนหรือประติมากรรมกิเลนตั้งหันหน้าออกนอกถนนหรือทางแยก เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายที่อาจเข้ามายังที่อยู่อาศัย กิเลนมีศีรษะคล้ายสุนัขป่า** มีเขา ลำตัวมีเกล็ด ขาทั้งสี่มีกีบเท้าคล้ายกับม้า หางเหมือนวัว นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกตามเพศด้วย หากเป็นตัวผู้มีคำเรียกว่า “กิ” หากเป็นตัวเมียมีคำเรียกว่า “เลน” ดังนั้นเมื่อเรียกรวมกันจึงเรียกว่า “กิเลน”

         คนไทยคงรู้จักกิเลนจากการติดต่อค้าขายกับจีน และนำมาประยุกต์ใช้ในงานศิลปกรรม อย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานบนตู้พระธรรมวัดเซิงหวาย และน่าจะจัดให้กิเลนเป็นหนึ่งในสัตว์หิมพานต์ ดังหลักฐานจากสมุดภาพ เลขที่ ๑๙๗ “สมุดรูปสัตว์ต่าง ๆ” มีข้อความระบุว่าวาดขึ้นเมื่อ จ.ศ. ๑๑๙๗ (พ.ศ. ๒๓๗๘)*** ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งหน้าต้นที่ ๔๙-๕๐ ปรากฏเป็นภาพกิเลนลายเส้นสีดำ นอกจากนี้สันนิษฐานว่า กิเลน ยังเป็นแรงบันดาลใจให้สุนทรภู่ สร้างตัวละครคือ “ม้านิลมังกร” ในเรื่องพระอภัยมณี ดังความตอนหนึ่งที่สุดสาครพบม้านิลมังกรว่า

         “พอพบม้าหน้าเหมือนมังกรร้าย 

แต่กีบกายนั้นเป็นม้าน่าฉงน

หางเหมือนอย่างหางนาคปากคำรน

กายพิกลกำยำดูดำนิล”

 

*พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ให้คำอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า กิเลนเป็นสัตว์ทิพย์ ปรากฏขึ้นเมื่อใดก็เป็นสวัสดิมงคล เพราะฉะนั้นจึงมักปรากฏตัวเมื่อบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขหรือผู้มีบุญมาเกิด นอกจากนี้ในวรรณกรรมจีนปรากฏ “กิเลน” ในเนื้อเรื่อง เช่น ไคเภ็ก และห้องสิน เป็นต้น

**ในคำอธิบายของพรพรรณ จันทโรนานนท์ ระบุว่ามีศีรษะคล้ายหมูป่า ดูใน พรพรรณ จันทโรนานนท์. ฮก ลก ซิ่ว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๗.

***หน้าต้นมีข้อความระบุไว้ดังนี้ “๏ วันอังคาร ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนสาม (กุมภาพันธ์-นับเดือนตามจันทรคติ) จุลศักราช ๑๑๙๗ [พ.ศ. ๒๓๗๘] ปีมะแมสัพศก ข้าพระพุทธจ้าวพรหมประกาศิต เขียรรูปสัตว์ต่าง ๆ ข้าพระพุทธิจ้าวนายฉายจำลองชุปเส้นอักสรทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ขอเดชะ ๚ะ”

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. สมุดภาพสัตว์หิมพานต์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๑.

พรพรรณ จันทโรนานนท์. ฮก ลก ซิ่ว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๗.

สมบัติ พลายน้อย. สัตว์หิมพานต์. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ, ๒๕๕๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 319 ครั้ง)