...

พระเมตไตรยะ

         พระเมตไตรยะ

         ศิลปะทิเบต พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐

         นายอำนวยพร อาตมานนท์ได้นำมาแลกเปลี่ยนกับพระพุทธรูปปางมารวิชัย ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ 

         ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องเอเชีย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร มีพุทธลักษณะสำคัญ คือพระรัศมีเป็นต่อมกลม อุษณีษะนูนกึ่งกลางมีรูปสถูปประดับอยู่ เม็ดพระศกเล็ก พระพักตร์ค่อนข้างกลม กลางพระนลาฎมีอุณาโลม พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระวรกายครองจีวรห่มเฉียง พระหัตถ์ขวายกขึ้น จีบพระอังคุฐ (นิ้วโป้ง) กับพระดัชนี (นิ้วชี้) เป็นวง สื่อถึงปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา)  พระหัตถ์ซ้ายอยู่ที่พระเพลารองรับหม้อน้ำ ประทับขัดสมาธิเพชร ชายผ้าแผ่ออกมาด้านหน้า

         พระพุทธรูปองค์นี้คือ พระเมตไตรยะ หรือ พระศรีอาริยเมตไตรย พระอนาคตพุทธเจ้า ซึ่งปรากฏสัญลักษณ์ที่สำคัญคือ “สถูป” หมายถึง สถูปบนเขากกุฎบาทที่ประดิษฐานร่างพระกัสปะเถระ ซึ่งเข้านิโรธสมาบัติ (การดับของพระอรหันต์) เพื่อรอพบกับพระเมตไตรยะ เพื่อถวายสังฆาฏิที่ได้จากพระศรีศากยมุนี (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) และพระเมตไตรยะจะรับผ้านั้นเพื่อบรรพชา

         คติการบูชาพระเมตไตรยะ เชื่อกันว่าเป็นแนวคิดที่สื่อถึงการสืบเนื่องของศาสนาจะคงอยู่ไปอย่างยาวนาน และเป็นความหวังไปสู่ช่วงเวลาที่ดีกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้คำว่า “เมตไตรยะ” มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตว่า “ไมตรี” หมายถึง ความกรุณา

         ในสังคมไทยเชื่อว่าพระศรีอาริยเมตไตรย หรือ พระอนาคตพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าที่มาบังเกิดบนโลกมนุษย์ ภายหลังจากการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันหรือพระศากยมุนีผ่านไปแล้ว ๕,๐๐๐ ปี ในระหว่างนี้พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ประทับบนสวรรค์ชั้นดุสิต ดังข้อความใน          “ไตรภูมิพระร่วง” ของพญาลิไท กล่าวไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับสวรรค์ชั้นดุสิตว่า 

         “...หมู่เทวดาทั้งหลายอันอยู่ในดุสิดานั้น รู้บุญรู้ธรรมทั้งพระโพธิสัตว์เจ้าผู้สร้างสมภารอันจะลงมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้าไส้เทียรย่อมสถิตในชั้นฟ้านั้นแลฯ บัดนี้พระศรีอาริยเมไตรยเจ้าผู้จะได้ลงมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้าภายหน้าในภัททกัลป นี้ก็เสด็จสถิตในที่นั้นแล ย่อมตรัสเทศนาธรรมให้เทพยดาทั้งหลายฟังอยู่ทุกเมื่อบมิขาดแลฯ...” 

         นอกจากนี้วรรณกรรมทางพุทธศาสนา อาทิ “พระมาลัยคำหลวง” พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย กล่าวว่ายุคของพระศรีอาริยเมตไตรยเป็นยุคที่เต็มไปด้วยความสุข และความสมบูรณ์ต่าง ๆ และได้พรรณาข้อความว่าหากประสงค์จะบังเกิดในยุคของพระองค์จะต้องประกอบกุศลผลบุญเสมอ และฟังพระคาถาพัน*ในการเทศน์มหาชาติให้ครบถ้วนจึงจะมาเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย ดังข้อความว่า 

         “...ให้สดับธรรม์เคารพ จนจวบจบอุทาหรณ์ พระเวสสันดรนฤบาล ปัจฉิมกาลสมโพธิ์ สมภารโสดอันอุดม เป็นที่สุดสมในชาตินั้น บูชาพระธรรม์จงครบ จึ่งจะได้ประสพองค์ข้า เมื่อจะลงมาอุบัติ จะได้ดำรัสโพธิญาณ อันโอฬารอลังกา อันฝูงมนุสสาเหล่านั้น เขาจึ่งจะทันศาสนา ฉะเพาะภักตราวิมลพรรณ ก็จะได้ถึงอรหันต์ธรรมวิเศษ โดยประเภทกุศลา อันเขาส่ำสมมานั้นแล ฯ...”

         ส่วนหลักฐานการสร้างประติมากรรมพระศรีอาริยเมตไตรย หรือ พระเมตไตรยะ นั้นเกิดขึ้นที่อินเดียตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๗ ในศิลปะคันธาระ จากนั้นจึงแพร่กระจายไปในหลายสังคม พบรูปเคารพพระศรีอาริยเมตไตรย หรือ พระเมตไตรยะ ทั้งในพื้นที่เอเชียกลาง เอเชียตะวันออก รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปรากฏแบบรูปเคารพเดี่ยว และรูปเคารพร่วมกับพระพุทธรูปองค์อื่น เช่น กลุ่มพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ หรือกลุ่มอดีตพุทธเจ้า เป็นต้น โดยมีสัญลักษณ์สำคัญคือ การแสดงสถูปอยู่บนพระเศียร และในหัตถ์มักจะแสดงหม้อน้ำ หรือ ช่อดอกลั่นทมสีขาว ซึ่งเรียกว่า “ดอกนาคปุษปะ” หรือ “ดอกนาคเกสร” บางครั้งก็เรียก “ดอกจัมปากะ”

 

 

*คาถาพัน หมายถึง เป็นคำเรียกชาดกเรื่อง เวสสันดรชาดก ซึ่งแต่งเป็นคาถาภาษาบาลีมีจำนวนคาถาประมาณ ๑๐๐๐ บท จึงเรียกว่า คาถาพัน. และเมื่อเทศน์คาถาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๐๐๐ บทนั้น ติดต่อกันรวดเดียวจบ เรียกว่า เทศน์คาถาพัน

 

 

อ้างอิง

จารุณี อินเฉิดฉาย และคณะ. คุณธรรม จริยธรรม ตามรอยพระโพธิสัตว์. กรุงเทพฯ: เดือนตุลา, ๒๕๕๐.

จิรัสสา คชาชีวะ. “ประติมานวิทยาของพระศรีอาริยเมตไตรยะ จากอินเดียสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้.” ดำรงวิชาการ ๑, ๑ (มกราคม-กรกฎาคม ๒๕๔๕), ๔๓-๖๒.

เชษฐ์ ติงสัญชลี. มุทรา ท่าทาง เครื่องทรง สิ่งของ รูปเคารพในศาสนาพุทธ เชน ฮินดู. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๕.

ธรรมธิเบศ, เจ้าฟ้า. พระมาลัยคำหลวง. พระนคร : กรมศิลปากร, ๒๕๐๙. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางเจียน ผดุงเกียรติ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๙)

พระญาลิไทย. เตภูมิกถา. นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๖๔.

(จำนวนผู้เข้าชม 789 ครั้ง)


Messenger