...

โถพร้อมฝา เบญจรงค์ลายหน้าขบและครุฑยุดนาค

          โถพร้อมฝา เบญจรงค์ลายหน้าขบและครุฑยุดนาค

          สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔

          ของหลวงพระราชทานยืม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐

          ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องวสันตพิมาน (ล่าง) หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          โถฝาเขียวขลิบแดง ฝาเขียนลายหน้าขบสลับกับลายก้านขดพื้นเขียว ตัวโถเขียนลายครุฑยุดนาคในกรอบลายพุ่มข้าวบิณฑ์สีแดง สลับกับลายหน้าขบในกรอบลายพุ่มข้าวบิณฑ์ พื้นโถสีเขียวเขียนลายก้านขด กระหนกเปลว และลายหน้าสิงห์ เชิงโถเตี้ย ขอบปากเขียนลายลูกคั่นพื้นสีแดง ขอบเชิงเขียนลายลูกคั่นพื้นสีเขียว ลวดลายบนตัวภาชนะตัดเส้นสีทองทั้งหมด

          โถเบญจรงค์ใบนี้เป็นตัวอย่างของ “เครื่องถ้วยลายอย่าง” ที่ช่างไทยได้ให้แบบอย่างลวดลายไทย ไปสั่งทำกับช่างชาวจีน ซึ่งมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ทางบริเวณแม่น้ำแยงซี อาทิ เมืองจิ่งเต๋อเจิ้น (Jingdezhen) มณฑลเจียงซี (Jiāngxī) ภาชนะลวดลายรูปครุฑนั้นสันนิษฐานว่า เป็นภาชนะที่ใช้เฉพาะในราชสำนักเท่านั้น ไม่ได้สั่งผลิตและจำหน่ายออกอย่างแพร่หลาย ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า 

          “...เข้าใจว่ามาจนถึงในรัชกาลที่ ๑ ถ้วยชามที่สั่งไปทำเมืองจีนจึงได้ให้ช่างหลวงเขียนลายตัวอย่างขึ้นใหม่ แต่ดำเนินตามตัวอย่างที่ดีครั้งกรุงเก่าเป็นพื้น เป็นลายไทยเขียนสีบนพื้นถ้วยขาวบ้าง เขียนเบญจรงค์บ้าง เช่น ลายชามก้านขดเขียนสีบนพื้นถ้วยมีรูปครุฑบ้าง ราชสีห์บ้าง เทพพนมบ้าง ของชนิดนี้มีน้อย ด้วยสั่งเป็นของหลวง ผู้อื่นเห็นจะไม่ได้ใช้ได้ทั่วไป...”

          นอกจากนี้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นช่วงเวลาที่มีความนิยมสั่งเครื่องถ้วยเบญจรงค์ และเครื่องถ้วยลายน้ำทอง เข้ามาในราชสำนักเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ เครื่องถ้วยลายน้ำทองที่สั่งเข้ามาในช่วงเวลานี้ มีรูปแบบทั้งลงพื้นสีทอง แต้มสีทอง รวมถึงตัดเส้นสีทอง โดยขั้นตอนการเขียนสีทองนั้นจะเขียนภายหลังจากการลงสีเบญจรงค์ เพราะสีทองใช้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า* ซึ่งในขณะที่ราชสำนักไทยสั่งเครื่องถ้วยเบญรงค์ลายน้ำทองจากเมืองจีน ในราชสำนักจีนขณะนั้นก็นิยมเครื่องเบญจรงค์ลายน้ำทองอยู่แล้วเช่นกัน ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าเฉียนหลง (พ.ศ.๒๒๗๙-๒๓๓๘) และพระเจ้าเจียจิง(พ.ศ.๒๓๓๙-๒๓๖๓) แห่งราชวงศ์ชิง

 

 

*สีเบญจรงค์ใช้อุณหภูมิในเตาเผาประมาณ ๗๕๐-๘๕๐ องศาเซลเซียส ขณะที่สีทองใช้อุณหภูมิในเตาเผาประมาณ ๗๐๐-๘๐๐ องศาเซลเซียส

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. ประณีตศิลป์สยาม ณ หมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๕.

กรมศิลปากร. ศิลปวัตถุกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๕.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น. พิมพ์ครั้งที่ ๗. กรุงเทพฯ: บพิธ, ๒๕๑๑. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายสง่า วรรณดิษฐ์ ท.ม., ต.ช. ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๑).

(จำนวนผู้เข้าชม 255 ครั้ง)


Messenger