...

อิฐดินเผาจารึกคาถาเยธมฺมา ฯ

          อิฐดินเผาจารึกคาถาเยธมฺมา ฯ

          สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒

          ไม่ปรากฏที่มา

          ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องทวารวดี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          ก้อนอิฐดินเผา ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่งขอบทั้งสี่ด้าน มีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี ความว่า “เยธมฺมา เหตุปฺปภวา เยสํ เหตุ ตถาคโต อาห เตสญฺจโย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณติ ฯ” แปลได้ความว่า ธรรมทั้งหลายเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้น พระมหาสมณเจ้า ทรงสั่งสอนอย่างดังนี้

          คาถาเยธมฺมาฯ ถือเป็นสาระสำคัญของพระพุทธศาสนา มีการพบโบราณวัตถุที่มีจารึกดังกล่าวในหลายวัฒนธรรมทั้งอินเดีย พม่า และในพื้นที่ประเทศไทย โดยเฉพาะในวัฒนธรรมทวารวดีพบจารึกเยธมฺมาฯ บนหลักศิลา พระพิมพ์ สถูปศิลา สถูปดินเผา รวมถึงก้อนอิฐ ซึ่งในวัฒนธรรมทวารวดีนิยมทำก้อนอิฐขนาดใหญ่ผสมกับแกลบข้าว และบางครั้งตกแต่งอิฐเป็นลวดลายมงคล หรือลายธรรมจักรหรือปิดทอง หรือจารึกคาถาทางพุทธศาสนา ฝังเอาไว้กลางโบราณสถานซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคติเกี่ยวกับการวางศิลาฤกษ์สำหรับก่อสร้างอาคาร ตัวอย่างอิฐมีจารึกเยธมฺมาฯ เช่น ที่บ้านท่าม่วง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

          ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค กล่าวถึง เมื่อครั้งพระอัสสชิ (หนึ่งในปัญจวัคคีย์) เดินทางมาถึงเมืองราชคฤห์ อุปติสสปริพาชกได้พบจึงเข้าไปถามเกี่ยวกับหลักธรรม พระอัสสชิตระหนักว่าบวชไม่นาน จึงประสงค์จะกล่าวหลักธรรมของพระพุทธเจ้าโดยย่อ ดังความว่า

          “...เราได้ถามพระอัสสชิต่อไปว่า ก็พระศาสดาของ ท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไร? พระอัสสชิตอบว่า เราเป็นคนใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมา สู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่านได้กว้างขวาง แต่จักกล่าวใจความแก่ท่านโดยย่อ เราได้เรียนว่า น้อยหรือมาก นิมนต์กล่าวเถิด ท่านจงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการใจความอย่างเดียว ท่านจักทำพยัญชนะให้มากทำไม ผู้มีอายุครั้งนั้น พระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้ ว่าดังนี้ ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ  พระตถาคตทรงแสดงเหตุ แห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้...”

          เมื่ออุปติสสปริพาชกได้สดับพระธรรมโดยย่อดังกล่าวบังเกิดศรัทธา และได้ไปชักชวนโกลิตปริพาชกผู้เป็นสหายพร้อมด้วยบริวารในสำนักของตนอีก ๒๕๐ คนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ป่าเวฬุเพื่อฟังธรรมและบวชเป็นพระภิกษุ สำหรับอุปติสสปริพาชก เมื่อบวชแล้วมีนามว่า “สารีบุตร” ส่วนโกลิตปริพาชก เมื่อบวชแล้วมีนามว่า “โมคคัลลานะ” ทั้งสองเป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลปการพิมพ์, ๒๕๖๓.

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔  พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ จาก:  https://84000.org/tipitaka/read/r.php?B=04&A=1358

(จำนวนผู้เข้าชม 1647 ครั้ง)


Messenger