ภาชนะรูปแมว
ภาชนะรูปแมว
ภาชนะจากแหล่งเตาพนมดงเร็ก จังหวัดบุรีรัมย์ พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘
นายโยธิน-นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ มอบให้เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาชนะทรงโถรูปแมวนั่งมองตรง ดวงตาเปิดกลมโต จมูกยื่นเล็กน้อย (ชิ้นทางขวามีหนวดเป็นเส้น) ส่วนหูชำรุดหักหาย ด้านบนภาชนะเจาะรูเป็นวงกลม ส่วนคอ คอด มีลายขูดขีดคล้ายกับทำเป็นสร้อยคอ (ชิ้นทางซ้ายประดับด้วยกระดิ่งไว้กึ่งกลางสร้อยคอ) ลำตัวภาชนะป่อง ก้นภาชนะสอบเข้าหากัน
ภาชนะทรงโถรูปแมวชิ้นทางขวา เคลือบสีเดียวแบบที่พบในกลุ่มเครื่องถ้วยของแหล่งเตาพนมดงเร็กคือ เคลือบสีน้ำตาล (มีที่มาจากออกไซด์ของเหล็ก) ทั้งชิ้น แต่ร่องรอยของน้ำเคลือบไม่สม่ำเสมอกัน
ภาชนะทรงโถรูปแมวชิ้นทางซ้าย มีลักษณะพิเศษคือการเคลือบสองสี ได้แก่สีเขียว (มีที่มาจากขี้เถ้าพืชเป็นส่วนประกอบ) บริเวณใบหน้ากับลำตัวช่วงอก ตัดกับสีน้ำตาล บริเวณส่วนดวงตา ปลายจมูก สร้อยคอ ลำตัวด้านข้างและเท้า นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของปูนที่ใช้ในการกินหมากติดอยู่ภายในซึ่งเป็นหลักฐานที่สะท้อนถึงหน้าที่การใช้งานเดิมของภาชนะรูปแมวใบนี้ว่าเป็นภาชนะสำหรับใส่ปูนที่ใช้ในการกินหมากนั่นเอง
อ้างอิง
Dawn F. Rooney. Khmer Ceramics Beauty and Meaning. Bangkok: Riverbook, 2010.
(จำนวนผู้เข้าชม 264 ครั้ง)