...

ปี่ใน

         ปี่ใน

         สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕

         เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต ทำขึ้น เป็นของอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มาแต่เดิม

         ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งทักษิณาภิมุข หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         ปี่ในกลึงจากศิลาเมืองโพธิสัตว์ (จังหวัดโพธิสัตว์ ประเทศกัมพูชา) ภายในเจาะกลวงตลอดทั้งเลา ทางหัวเป็นช่องรูเล็ก ทางปลายเป็นช่องรูใหญ่ ตอนกลางเลาป่อง กลึงขวั้นเป็นเกลียว และเจาะรูสำหรับใช้นิ้วไล่เสียงจำนวนหกรู ประกอบด้วยรูทั้งสี่เว้นระยะเล็กน้อยเท่า ๆ กัน และถัดลงมาอีกสองรู รูเล็กทางหัวใส่ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลตัดกลมผูกติดกับท่อลมขนาดเล็ก ทำด้วยโลหะเรียกว่า “กำพวด”

         “ปี่ใน” เป็นหนึ่งในกลุ่มของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าจำพวก “ปี่” ซึ่งประกอบไปด้วย ปี่นอก ปี่กลาง ปี่ใน มีทั้งที่ทำด้วยไม้ (เช่น ไม้ชิงชัน ไม้พยุง) งาช้าง และศิลา ในอดีตวงดนตรีจะใช้ปี่เพียงเลาเดียวสำหรับการบรรเลง ต่อมาจึงเกิดการปรับปรุงขนาดปี่เพื่อปรับให้มีเสียงใหม่ จึงเกิดการเรียกปี่แบบดั้งเดิมว่า “ปี่นอก” และเรียกปี่ที่ปรับขนาดใหม่ว่า “ปี่ใน” (ส่วนปี่ที่ใช้เป่าประกอบการเล่นหนังใหญ่จะมีเสียงที่อยู่ระหว่างปี่นอกกับปี่ในเรียกว่า “ปี่กลาง”)

         ในวรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” แต่งโดยพระศรีสุนทรโวหาร (ภู่) หรือที่รู้จักกันในนาม “สุนทรภู่” ในช่วงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในตอน พระอภัยมณีกับศรีสุวรรณเรียนวิชา* มีวรรคกล่าวถึงการเรียนวิชาเป่าปี่ไว้ดังความว่า 

 

 

พื้นความรู้ครูประสิทธิ์ไม่ปิดบัง   

จึงสอนสั่งอุปเท่ห์เป็นเล่ห์กล

ถ้าแม้นว่าข้าศึกมันโจมจับ  

จะรบรับสารพัดให้ขัดสน

เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน 

ด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ

คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส 

เกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร

ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณ 

จึงคิดอ่านเอาชัยเหมือนใจจง

แล้วให้ปี่ที่เพราะเสนาะเสียง 

ยินสำเนียงถึงไหนก็ใหลหลง

 

 

         *พระอภัยมณีและศรีสุวรรณ เป็นโอรสของ ท้าวสุทัศน์เจ้าเมืองรัตนาและนางประทุมเกสร พระโอรสทั้งสองได้กราบลาออกไปร่ำเรียนวิชา ซึ่งพระอภัยมณีผู้เป็นพี่เรียนวิชาเป่าปี่ ส่วนศรีสุวรรณผู้เป็นน้องเรียนวิชากระบี่กระบอง

         

อ้างอิง

กรมศิลปากร. เครื่องมือของใช้จากวรรณกรรมสุนทรภู่. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ, ๒๕๓๐ (กรมศิลปากรจัดพิมพ์ประกอบนิทรรศการพิเศษเนื่องในโอกาสฉลอง ๒๐๐ ปี กวีเอกสุนทรภู่ ๑๙ มิถุนายน - ๒ สิงหาคม ๒๕๓๐).

.

ธนิต อยู่โพธิ์. หนังสือเครื่องดนตรีไทย. กรุงเทพฯ: พิฆเนศ, ๒๕๓๐ (กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองชนมายุ ๘๐ ปี ของ นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๑๑ วันอังคารที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐).

(จำนวนผู้เข้าชม 3326 ครั้ง)


Messenger