ลับแลศิลา
ลับแลศิลา
ศิลปะจีน พุทธศตวรรษที่ ๒๔- ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕
สมบัติเดิมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ตั้งอยู่ด้านข้างอาคารพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ทางทิศเหนือ และทิศใต้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ลับแลศิลา ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สูง ๑๙๘ เซนติเมตร กว้าง ๑๕๐ เซนติเมตร สลักจากหินสีเขียว ล้อมรอบด้วยกรอบสี่เหลี่ยม ด้านล่างรองรับด้วยฐานสิงห์ ภายในแผ่นศิลาเขียวแบ่งพื้นที่ในแนวตั้งออกเป็นสามส่วน แสดงเรื่องราววรรณกรรมจีน เรื่อง ไป่เหริ่นถาง แปลว่า “ศาลแห่งร้อยขันติธรรม” พร้อมทั้งแทรกสัญลักษณ์มงคล อาทิ รูปสลักชายอุ้มเด็ก หรือ ขันทีถือถาดผลท้อ ซึ่งในคติจีนหมายถึง “โซ่ว” แปลว่า ความมีอายุยืน
ลับแล เป็นสิ่งที่นิยมใช้ตกแต่งเรือนที่อยู่อาศัยของชาวจีน ปรากฏทั้งอาคารพระราชวัง วัด บ้านเรือนขุนนาง คหบดี โดยใช้เป็น “ผนังกันผี” และเป็น “ผนังบังตา” กล่าวคือ ผนังกันผีจะตั้งอยู่บริเวณประตูทางเข้าเรือน ผู้ที่จะผ่านเข้า-ออก นั้น จะต้องเดินอ้อมผ่านผนังทางด้านซ้ายหรือขวา ไม่สามารถเดินตรงเข้ามา ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าผีหรือสิ่งอัปมงคลจะมีเส้นทางเดินเป็นเส้นตรง ดังนั้นจึงต้องตั้งผนังบังเอาไว้ ส่วนการเป็นผนังบังตานั้นหมายความว่า เป็นผนังที่กั้นให้เกิดความเป็นส่วนตัวภายในเรือน และยังแบ่งสัดส่วนพื้นที่ในเรือนได้ชัดเจน (ในคำอธิบายตามความเชื่อจีนกล่าวว่า ช่วยปกป้องความเป็นสิริมงคลให้หมุนเวียนอยู่ภายในบ้าน) โดยอาจมีภาพวาดหรือภาพแกะสลักบนลับแลก็ได้
ในสังคมไทยมีการนำลับแลมาประยุกต์ใช้เช่นกัน เชื่อว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากชาวจีนผ่านการค้าแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ พบการติดตั้งลับแลทั้งในเขตพระราชวังและวัด เช่น ผนังบังตาด้านในประตูกำแพงแก้ววัดทองธรรมชาติ กรุงเทพฯ นอกจากนี้จิตรกรรมฝาผนังตามวัดหลายแห่งวาดลับแลไว้อยู่ตามฉากอาคารเรือนและปราสาท ส่วนลับแลศิลาชิ้นนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูทางเข้า*ไปสู่ท้องพระโรงพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ของพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว สันนิษฐานว่าลับแลนี้น่าจะนำเข้ามาติดตั้งในคราวพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
สำหรับวรรณกรรมเรื่องไป่เหริ่นถาง เป็นเรื่องราวที่เกิดในสมัยพระจักรพรรดิถังเกาจง (พ.ศ. ๑๑๗๑ - ๑๒๒๖) จักรพรรดิองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์ถัง มีที่มาโดยสังเขปคือ ผู้เฒ่าคนหนึ่งนามว่า “จางกงอี้” เป็นผู้ที่สามารถปกครองครอบครัวใหญ่ ซึ่งมีจำนวนสมาชิกมากถึง ๙๐๐ คน ได้อย่างสงบสุข และสามัคคีกันเป็นอย่างดี จักรพรรดิถังเกาจงทรงทราบความ ได้เชิญจางกงอี้ มาถามถึงแนวทางในการปกครอง จางกงอี้จึงหยิบกระดาษและเขียนความว่า “เหยิ่น” ซึ่งแปลว่าขันติธรรม และได้เขียนแนวทางไว้รวมทั้งหมด ๑๐๐ ข้อปฏิบัติ** ใจความสำคัญของขันติธรรมนั้นอยู่ที่การปฏิบัติตน อาทิ ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู มีความกล้าหาญ มีความอดกลั้น ฯลฯ จักรพรรดิถังเกาจงพอพระทัยต่อคำอธิบายนี้จึงได้พระราชทานป้ายเขียนว่า “ศาลแห่งร้อยขันติธรรม” แก่ผู้เฒ่าจางกงอี้ ไว้ประดับในศาลบรรพบุรุษตระกูลจาง ให้เป็นแนวทางปฏิบัติสืบกันต่อไป
*ซึ่งประตูทางเข้าและกำแพงล้อมรอบนั้นถูกรื้อออกไปในสมัยหลัง
**อ่านหลักขันติธรรมทั้งร้อยข้อได้ใน ฉัตรชัย ลีลหานนท์. “ของชิ้นเอกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ: ศาลแห่งร้อยขันติธรรม.” ศิลปากร ๕๔, ๒ (มีนาคม – เมษายน ๒๕๕๔): ๑๐๙-๑๒๗.
อ้างอิง
ฉัตรชัย ลีลหานนท์. “ของชิ้นเอกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ: ศาลแห่งร้อยขันติธรรม.” ศิลปากร ๕๔, ๒ (มีนาคม – เมษายน ๒๕๕๔): ๑๐๙-๑๒๗.
มาลินี คัมภีรญาณนนท์. “มรดกวัฒนธรรมจีน: บังตา (หยิ่งปี้) และผนังกั้นผี (เจ้าปี้) บนจิตรกรรมฝาผนัง.” ในหนังสือรวมบทความทางวิชาการจากการประชุมทางวิชาการนานาชาติ เรื่อง “มรดกวัฒนธรรม: ไทยกับเพื่อนบ้าน.” กรุงเทพฯ: ธรรมสาร, ๒๕๔๙.
ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ. “ลับแลสลักศิลาอย่างจีนข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร.” ศิลปวัฒนธรรม ๒๙, ๑๑ (กันยายน ๒๕๕๑): ๑๕๒-๑๖๑.
(จำนวนผู้เข้าชม 764 ครั้ง)